11 ธ.ค. 2552

กำไร-ขาดทุนแท้ ของอาริยชน (เราคิดอะไร ฉ.233)

ข้อเขียนของสมณะโพธิรักษ์ จากหนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับ 233 ปีที่ 16 ธันวาคม 2552 หน้า 25 - 29



กำไร-ขาดทุนแท้ ของอาริยชน (ต่อจากฉบับ ๒๓๒)

ระบบ "บุญนิยม"นี้ ข้าพเจ้ามีความเชื่อมั่นในใจจริง ๆ ว่า จะช่วยสังคมมนุษยชาติที่ถูกพิษและฤทธิ์ของระบบ"ทุนนิยม" กำลังต้อนเข้ามุึมอับอยู่ในปัจจุบันนี้ได้แน่ ๆ หากประชาชนได้ศึกษาช่วยกันวิจัยกันต่อ และอบรมฝึกฝนร่วมมือสร้างสรรให้เกิดให้เป็นผู้เจริญตามระบบ"บุญนิยม"นี้กัน จนมีคุณภาพ(quality) และปริมาณ(quantity) เพียงพอ ตอนนี้จะเห็นจะรู้ยังยากอยู่ ยิ่งจะเชื่อตามยิ่งยากใหญ่ เพราะยังมีผู้พอรู้พอเป็น หรือดำเนินชีวิตในระบบ"บุญนิยม"ได้แล้ว จำนวนน้อยเหลือเกิน


เฉพาะอย่างยิ่ง คนทั้งหลายเกือบทั้งโลกทุกวันนี้ก็ล้วนดำเนินชีวิตกันอยู่ด้วยระบบ"ทุนนิยม" อย่างสนิทสนมและตายใจว่า ไม่เห็นจะมีระบบอะไรอื่นอีกเลย กันทั้งนั้น ส่วนผู้ที่เห็นและเข้าใจถึงได้ว่า ระบบ"ทุนนิยม"กำลังเข้ามุมอับไปไม่รอด ช่วยมนุษยชาติในโลกให้เกิดสุขสันติอย่างอุดมสมบูรณ์ เป็นสังคมที่ดีตามอุดมการณ์ไม่ได้นั้น ก็ยังมีน้อยอยู่ด้วย จึงเป็นเรื่องยากที่ยากสุด ๆ จริง ๆ แต่ข้าพเจ้าก็ยังไม่เห็นทางออกอื่นใดเลยที่จะดีกว่าต้องปรับตัวมาเป็นระบบ"บุญนิยม"นี้ให้ได้ แล้วสังคมมนุษยชาติในโลกไปรอดแน่ ๆ



เราได้สาธยายเรื่อง"ที่พึ่ง" มายาวนานมาก ได้โยงใยมาจนถึง"ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์" ซึ่งได้อธิบายถึงรายละเอียดของความเป็น"ประโยชน์ฺปัจจุึบัน" ทั้งที่เป็นโลกียประโยชน์ ไปกระทั่งถึงที่เป็น โลกุตรประโยชน์ ก็คงจะพอเข้าใจได้มากขึ้นแล้วว่า "กำไรแท้ หรือขาดทุนแท้ของอาริยชน" นั้น เป็นฉันใด และได้สาธยายมาถึงตอนท้ายแห่งทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ คือ ข้อที่ ๔

ข้อที่ ๔ "สมชีวิตา" อันหมายถึง การเลี้ยงชีพอย่างเรียบร้่อยราบรื่น อย่างใจสงบเบิกบาน หรืออย่างมีสัมมาอาชีพ
และ เรากำลังอธบายมาถึง..

"จุดต่าง" นัยสำคัญของความเป็น"อาริยชน" กับ"ปุถุชน" หรือ "กัลยาณชน" ซึ่งควรจะจับจุดสำคัญนี้กันให้ได้แม่น ๆ ชัด ๆ คม ๆ

[ในฉบับที่แล้วกำลังสาธยายถึง"หลักคิด" หรือ "การคำนวณ"ของ"ปัญญาโลกียะ" ว่ายังไม่สุจริต-ยุติธรรม ยังไม่เที่ยงธรรมเท่ากับ"ปัญญาโลกุตระ" ก็ได้อธบายไปเพียงนิดหน่อย จึงต้องขอย้อนซ้ำที่อธิบายไว้แล้วสักเล็กน้อย ผู้ไม่มีหนังสือฉบับก่อนจะได้พอรู้เรื่องต่อติดพอสมควร]

เมื่อได้เข้าใจคุณลักษณะของ"อาริยบุคคล"ที่ถูกต้องตามสัจธรรมของศาสนาพุทธแล้ว แม้จะแค่เป็นอาริยบุคคลขั้น"โสดาบัน" ก็เห็นชัดแล้วว่า ผู้บรรลุคุณสมบัติของศาสนาพุทธอย่าง"สัมมาทิฏฐิ"นั้น ยิ่งบรรลุธรรม"โลกุตระ" ก็ยิ่งเป็นคนขยันการงาน มี"สัมมาอาชีพ" ชนิดเป็น"บุญนิยม" สร้างสรรเพื่อสังคม เป็นประโยชน์ต่อโลกต่อสังคมย่ิง ๆ ขึ้น แน่นอน เพราะ"อาริยบุคคล"จะมี"ปัญญาโลกุตระ" เข้าใจทิศทางและเนื้อแท้ของสัจธรรม ที่เป็น"กำไร-ขาดทุนแท้ ของอาริยชน" ได้อย่างถูกต้อง

เพราะฉะนั้นลักษณะสำคัญของ"บุญนิยม" บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่า ความเป็น"บุญ"จึงไม่เพียงเป็น"บุญ แค่"โลกียธรรม"เท่านั้น ยังมี"บุญ"ที่เป็น"โลกุตรธรรม" ซึ่งมีคุณพิเศษของ"โลกุตรสัจจะ"อีกต่างหาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ใน"โลกุตรธรรม"จะไม่มี"บุญ"แบบโลกียธรรม โลกุตรธรรมนั้นมีทั้ง"บุญ"ที่เป็นคุณลักษณะของโลกุตรสัจจะ และมีทั้ง"บุญ"แบบโลกียธรรมด้วย มีทั้งน้อยทั้งมาก ได้เช่นเดียวกัน ตามสมรรถนะของอาริยบุคคลแต่ละบุคคลนั้น ๆ เพียงแต่ว่า "โลกุตรธรรม"จะต้องเป็น"บุญ"ที่มีคุณลักษณะเข้าข่ายหรือถึงขีด"โลกุตรสัจจะ"ขึ้นไปด้วย จึงจะนับเข้าระดับ"บุึญนิยม"

เราได้รับฟังถึง"ปรัชญาของทุนนิยม กับ บุญนิยม"มาแล้ว หลายคนอาจจะยังคิดว่า เป็นเพียง"แนวคิด"เล่น ๆ หรือเป็นแค่"ตรรกะ"อวดเหตุผลเชิงชั้นให้ดูน่าทึ่งเท่านั้นซึ่งก็ดูดี ดูโก้ แต่เป็นไปไม่ได้ คนทำไม่ได้แน่

ขอยืนยันว่าป็นไปได้ คนทำได้แน่ ๆ เพราะมีกลุ่มคนที่ทำมาแล้ว และเป็นไปได้แล้วด้วย เดี๋ยวนี้ชัดเจนขึ้น ในแต่ละข้อของ ๑๑ นิยาม ที่ได้กล่าวถึงมาแล้วนั้นดูดี ๆ แล้วจะเห็นว่า มันเป็นไปได้

[ในฉบับที่แล้ว นิยามแห่งความเป็น"บุญนิยม" ข้อ ๑ ต้องเป็นโลกุตรธรรม และข้ออื่น ๆ ก็ได้สาธยายไปแล้ว ยังสาธยายค้างอยู่ใน ข้อ ๘ และกำลังบรรยายถึง"ความแตกต่าง"ของ"ทุนนิยม"กับ"บุญนิยม" ในแนวกว้างแนวลึกเพิ่มเพื่อให้เห็นชัดเจนขึ้น]

และขอยืนยันว่า "ในการทวนกระแสนี้ชาวบุญนิยมทวนกระแสอย่างมีความสุข" สำหรับผู้มีภูมิธรรมบรรลุธรรมจริง ไม่ใช่กระทำอย่าง"จนใจ" หรือเพราะ"ไร้ทางออก" หรือ"สุดทุกข์สุดฝืนทน"แน่ ๆ แม้ในกรณีผู้บรรลุยังไม่สมบูรณ์ซึ่งอาจจะมีความฝืน ความลำบากอยู่บ้าง ก็เพราะกิเลสของตนยังไม่หมด นั่นย่อมเป็นไปตามจริงของผู้ที่ยังไม่บรรลุถึงขั้นสูงเพียงพอ ก็จะต้อง"ตั้งตนอยู่บนความลำบาก"(ทุกขายะ อัตตานังปทหติ) อันเหมาะสม กับตนเอง เท่าที่ตนจะพอลำบากได้ "กุศลธรรมจึงจะเจริญยิ่ง" [พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ ข้อ ๑๕] นั่้นคือ การปฏิบัติตนเป็น"มัชฌิมาปฏิปทา"ในประเด็น"มัชฌิมาปฏิปทา" ที่หมายความว่า "การปฏิบัุติที่เป็นกลาง คือไม่หย่อนเกินไปไม่ตึงเกินไป"นี้ มีคนเข้าใจยังไม่สมบูรณ์อยู่มาก จึงทำให้ยึดอยู่แต่ในจุดที่พาไม่เจริญ ความรู้แจ้งชัดใน"มัชฌิมาปฏิปทา"นี้เป็น"ประเด็นสำคัญมาก" สำหรับผู้ปฏิบัติชาวพุทธ

คนทั่วไปเรียกกันว่า "การปฏิบัติที่เป็นกลาง คือไม่หย่อนเกินไป ไม่ตึงเกินไป"(มัชฌิมาปฏิปทา) แล้วก็ยึดกันแน่นอยู่ตรงความหมายเฉพาะขั้น"หยาบที่สุด" เท่านี้เท่านั้นว่า เป็น"ความสุดโต่งหรือความไม่เป็นกลาง"

[ก่อนหน้าหนี้ ได้พูดถึง"กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน" ซึ่งเป็น"สมุทัียแห่งทุกข์" ที่คนจะต้องกำจัดมัน จึงจะเจริญด้วย จะพ้นทุกข์ด้วย โดยการปฏิบัติ"มรรค อันประกอบด้วย องค์ ๘" หรือปฏิบัติ"ศีล-พรต"ตามหลัก"ไตรสิกขา"นั่นเอง ซึ่งเมื่อปฏิบัติไป ก็จะได้รู้ได้เห็น "ความยังไม่เป็นกลาง"หรือเห็น"ความโต่ง" ที่สลับไปสลับมา ของความเป็น"กาม" กับความเป็น"อัตตา" ที่ไม่หยาบ ว่ามันสลับซับซ้อนอยู่อีกหลากหลาย ที่ยัง"ไม่เป็นกลาง"
ขณะนี้เรากำลังอธบายเจาะลึกลงไปถึง.. "การเกิดของภาวนามยปัญญา" ซึ่งต้องเกิดจากการได้รู้ได้เห็น"ผล"ของการปฏิบัติและในมรรคผลนั้นอาตมากำลังเน้น "สัมมาสมาธิ"เน้น"ฌาน"แบบพุทธ ที่เจาะลึกเข้าไปใน"จิต-เจตสิก-รูป-นิพพาน" หรือ"ปรมัตถธรรม"อย่างละเอียดขึ้น กระทั่งเจาะลึกลงไปถึงขั้น"ญาฯ"ขั้น"วิมุติ"และผู้จะถึงญาณถึงวิมุติก็ต้องเชื่อ"กรรม"ที่สั่งสม"บาป"สั่งสม"บุญ"ชนิดเป็นโลกุตระ จึงจะบรรลุได้ ซึ่งกำลังอธิบายขยายความ"นิยาม ๑๑ ข้อ ของบุญนิยม" ฉบับที่แล้วอธบาย ถึงข้อที่ ๗ จบลงแล้ว คราวนี้ก็จะได้อธบายถึงนิยามของ"บุญนิยม"ในข้อที่ ๘ กันต่อ]

ทีนี้มาพูดถึง"นวัตกรรม"(innovation) ของสังคมมนุษยชาติ ที่ชื่อว่า "บุญนิยม" และกำลังอธิบาย"นิยาม ๑๑ ข้อ ของบุญนิยม"ยังไม่จบ คงต้องอีกหลายคราว คราวที่แล้วเรายังอธิบายกันถึงข้อที่ ๘ อยู่

"บุญนิยม" ข้อที่ ๘ ก็คือ "เข้าถึงสภาวะธรรมขั้นเปลี่ยนแปลงพัฒนาจิตวิญญาณ" หรือต้องศึกษาฝึกฝน จน"กิเลสตาย-จิตเกิด"(โอปปาติกโยนิ) เรียกว่าบรรลุธรรมขั้นปรมัตถสัจจะ สู่โลกุตระตามลำดับ จึงชื่อว่า "เป็นผู้สำเร็จ"จริง และเราได้พูดกันไปแล้วพอสมควร แต่ก็ยังมีรายละเอียดที่น่าจะพูดสู่กันฟังอีก
[เรากำลังอธิบาย "บุญนิยม" ข้อที่ ๘ ยังไม่จบ อ่านต่อได้เลย]

เราลองมาพูดถึงเรื่องของ"ทาน"กันให้มากกว่านี้ดูสักหน่อย

การวิเคราะห์ให้ฟังตอนนี้จะแยกเป็น ๒ ส่วน กล่าวคือ จะวิเคราะห์ในประเด็น ทานมี หรือไม่ นั้นประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง จะวิเคราะห์ว่า

ทานมีผล หรือไม่
ประเด็นแรก ทานมี หรือไม่..?
[ประเด็นนี้เราได้พูดกันไปแล้ว ทีนี้ก็ประเด็นที่ ๒ คือ... ]

ทาน มีผลหรือไม่... ?
[แล้วเราก็ได้อธิบายถึง"ทาน"ที่สูงขึ้นไปกว่า "วัตถุทาน"ก็คือ"อภัยทาน-ธรรมทาน" ที่ลึกเข้าไปถึง"ปรมัตถธรรม"]

ที่พูดกันสอนกันว่า ผู้ศึกษาจนมี"วิปัสสนาญาณ"ก็คือ ผู้รู้เห็นไตรลักษณ์ คือ รู้เห็น"อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา" คำพูดนี้ถูกต้อง แต่ต้องเข้าใจอย่างสัมมาทิฏฐิว่า "รู้เห็น.. อนิจจัง-ทุกขขัง-อนัตตา" นั้นรู้เห็นอะไร แค่ไหน อย่างไร ซึ่งไม่ใช่"เข้าใจทะลุอย่างลึกซึ้ง" เป็น"ตรรกะ"แค่นั้นแน่ ๆ

ในพระไตรปิฏก เล่ม ๑๘ ข้อ ๒๕๔-๒๕๖ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนแจ่มแจ้งที่สุด ในความเป็น"ไตรลักษณ์"

และเห็นความจริงตามความเป็นจริงว่า มันเป็นอนัตตาเป็นของแปรไปเป็นธรรมดา เป็นของไม่มีแก่นสาร เป็นมูลบแห่งความลำบาก เป็นดังเพชฌฆาต เป็นของปราศจากความเจริญ เป้ฯของมีอาสวะ เป้ฯของอันเหตุปัจจัยปรุงแต่ง เป็นเหยือมาร เป้นของมีชาติเป็นธรรมดาเป็นของมีโสกะ ปริเทวะทุกข์โทมนัสและอุปายาสเป็นธรรมดา เป้นของมีความเศร้าหมองเป็นธรรดา เป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์ เป็นของดับไป เป็นของชวนให้แช่มชื่น(ซึ่งเป็นความหลอกของโลกีย์อย่างยอดยิ่งจริง ๆ ) เป็นอาทีนวะ(โทษ, ผลร้าย, ความไม่ดี) เป็นนิสสรณะ(จิตรอดพ้นออกไปจากสิ่งเป็นโทษนั้น ๆ, จิตละทิ้ง, จิตเลิกละ, จิตออกไปพ้น)

[เรากำลังอธิบาย"ปาฏิหาริย์ ๓" วิเคราะห์ให้เห็นชัดว่า "อนุสาสนีปาฏิหาริย์"เท่านั้นที่พระพุทธเจ้าให้ศึกษาและฝึกฝนเป็นประโยชน์มรรคผลปาฏิหาริย์อื่นทรงปฏิเสธและบริภาษซ้ำ แม้ใครทำได้ก็ห้ามขาดอีกด้วย]

"นิพพาน"นี้ ตามที่แปลกันไว้ ว่า"ความทำลาย, ความเย็น, ความดับ, ความตาย, ไม่มีเครื่องทิ่มแทง, ไม่มีการไป, ไปหมดแห่งความร้อน, ไปไม่เหลือ" หรือจะแปลอะไรอื่นอีกมากมายอย่างไรก็ตาม ก็ต้องเข้าใจให้ชัดเจนแจ่มแจ้งจริง ๆ ในความหมายที่เราหมายถึงแท้ ๆ นั้น ไม่ใช่เรื่องของวัตถุึ ไม่ใช่เรื่องชี้ผลลงไปที่วัตถึ แต่ชี้เจาะลงไปที่ "ผลสำเร็จของจิตวิญญาณ" ไม่นอกจิตวิญญาณ

"นิพพาน" ในที่นี้เป็น"คุณสมบัติ" หนึึ่งของมนุษย์ซึ่งนับเป็น"คุณธรรม" อันวิเศษในศาสนาพุทธ มีเป้าหมายสำคัญกำหนดแน่คมชัดแม่นแท้ที่สุดคือ "ความดับกิเลสหมดสิ้นในจิต"ที่เป็น"เหตุแท้ของทุกข์"(ทุกขสมุทัยอาริยสัจ)

จึงเป็นเรื่องของ"ปรมัตถธรรม"โดยเฉพาะ
ซึ่งก็คือ เรื่องของ"จิตวิญญาณ"เท่านั้น
ไม่ใช่เรื่องวัตถุ ไม่ใช่เรื่องดินน้ำลมไฟ หรือไม่ใช่เรื่องอะไร ๆ ที่เป็นอยู่แค่ภายนอก"จิต" เป็นต้นว่า แค่"ความเป็นของร่างกาย" หรือความเป็นของผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง แค่นั้น เท่านั้น

แม้เราจะศึกษาด้วยการพิจารณา"ร่างกาย" พิจารณา ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง ฯลฯ ว่า มันไม่เที่ยง จนเข้าใจดีมันเปลี่ยนแปลงไป มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวตน และเห็นความจริงที่ร่างกาย หรือ ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง มันเปลี่ยนแปลงไป มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ื มันไม่ใช่ตัวตน มันก็ยังไม่ใช่"ผลของการบรรลุธรรม" โดยเฉพาะไม่ใช่การบรรลุ"นิพพาน" เด็ดขาด

นั่นเป็นเพียงความเห็นที่สนับสนุนความรู้ในขั้นหยาบที่รู้ได้ก่อน ว่า มันไม่เที่ยงเยี่ยงนี้ ๆ แหละ มันเป็นทุกข์มันไม่ใช่ตัวตน เยี่ยงนี้ ๆ แหละ ในสิ่งที่จะรู้จะเห็นได้ง่ายก่อน ซึ่งยังไม่ใช่"จุดของผลบรรลุ"ที่แท้

ต้อง"รู้-เห็น" จิตเราด้วยความไม่เที่ยง-จิตลดเหตุแห่งทุกข์-จิตไม่มีตัวตน คือ ตัวตนของกิเลสหรือตัวตนอกุศลจิตนั้น ๆ นั่นเองที่"หมดตัวตน" หรือ "ไม่มีตัวตนแล้ว"

จึงจะเป็น"ผล"ที่เรียกว่า"นิพพาน"หรือ"นิโรธ"

การรู้แจ้งเห็นจริง"นิพพาน"หรือ"นิโรธ" ซึ่งหมายถึง"ความดับตัวตนสนิท" ความไม่มีตัวตนเพราะตัวตนของกิเลสดับสนิท" เป็นการรู้แจ้งเห็นจริงด้วย"ญาณ"ของตน

ผู้ปฏิบัติต้องมี"อธิปัญญาสิกขา"ที่เจริญเป็น"ญาณ"เจริญเป็น"สัมสนญาณ"ที่รู้จักรู้แจ้งรู้จริง"อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา" ซึ่งจะต้องรู้แจ้งเห็นจริงตั้งแต่ไตรลักษณ์ขั้นต้นแล้วญาณก็เจริญรู้แจ้งเห็นจริงเจริญขึ้น ๆ ไปจนถึงที่สุด

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น"อนิจจัง" ซึ่งเป็น "ความไม่เที่ยง, ความไม่คงที่, ความไม่เป็นอยู่อย่างเดิม" ก็ดี

จะเป็น"ทุกขัง" ซึ่งเป็น "ความไม่เป็นสุข, ความรู้สึกไม่สบาย, สภาพที่ทนอยู่ได้ยาก, ่ความทนทรมาน" ก็ดี

จะเป็น"อนัตตา" ซึ่งเป็น "ความไม่ใช่ตัวตน, ความไม่มีตัวตน, ความไม่เป็นตัวตน, ความไม่มีอัตตา" ก็ดี

ก็ล้วนหมายเอา.. "ความเป็น หรือ ความไม่เป็น" หมายเอา ความมี หรือ ความไม่มี"กัน"ที่จิต"(มนสิ)ทั้งนั้น ซึ่งเป็นเรื่อง"ในจิต"(มนสิ)เท่านั้น

ความเป็นหรือความไม่เป็น"อนิจจัง"ก็ดี ความมี หรือ ความไม่มี "ทุกข์"ก็ดี ความเป็นหรือความไม่เป็น"อนัตตา"ก็ดี ก็ล้วนเป็นกัน"ที่จิต"(มนสิ)ทั้งสิ้น

หมายความว่า จะต้องเรียนรู้ และทำ"ให้เป็นหรือไม่ให้เป็น-ให้มีหรือไม่ให้มี"กันก็"ที่จิตที่ใจ"นี่เอง จึงจะเป็น"ผลสำเร็จขั้นปรมัตถ์"(ขั้นที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง) และ"ใจ"หรือ"จิต"ก็อยู่ในร่างกายยาววาหนาคืบกว้างศอกของเราขณะมีชีวิตอยู่ ณ ปัจจุบันนี้นี่แหละ

ในพระไตรปิฏก เล่ม ๒๔ ข้อ ๕๘ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดว่า มูลเหตุแห่งธรรมทั้งปวง

๑. มี"ฉันทะ" เป็นมูล(มูลกา)
๒. มี"มนสิการ" เป็นแดนเกิด(สัมภวะ)
๓. มี"ผัสสะ" เป็นเหตุเกิด(สมุทัย)
๔. มี"เวทนา" เป็นที่ประชุมลง(สโมสรณา)
๕. มี"สมาธิ" เป็นประมุข(ปมุขะ)
๖. มี"สติ" เป็นใหญ่(อธิปไตย)
๗. มี"ปัญญา" เป็นยิ่ง(อุตระ)
๘. มี"วิมุติ" เป็นแก่น(สาระ)
๙. มี"อมตะ" เป็นที่หยั่งลง(โอคธา)
๑๐. มี"นิพพาน" เป็นที่หยั่งลง(ปริโยสาน)

คำว่า "แดนเกิด" ก็คือ แดนที่จะทำให้เกิด"วิมุติ" เกิดความเป็น"อมตะ" จนกระทั่ง"เป็นที่สุด"(ปริโยสาน) คือ นิพพาน นั่นเอง ดังนั้น"นิพพาน"จึงอยู่"ที่จิต"(มนสิ) และผู้ปฏิบัติต้องทำให้เกิดให้เป็นขึ้น "ที่จิต"(มนสิ)ของเรา

พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนทฤษฎีใน"การทำใจในใจ"(มนสิการ) หรือ"การทำจิตในจิตให้แยบคาย ให้ถ่องแท้ให้ลงไปถึงที่เกิด"(โยนิโส มนสิการ) ให้เป็นไปตามที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะให้"กำจัดเหตุอันคือกิเลสหรือที่มันทำให้ทุข์"(กำจัดสมุทัยอริยสัจ) ให้ถึง"แดนเกิดหรือแดนที่เกิดกิเลส"(สัมภวะ) และทำให้ถึง"ความดับกิเลสสนิท จนไม่เกิดอีก" สำเร็จลง ณ ที่นั้นด้วย จึงจะชื่อว่าบรรลุ"นิพพาน"

เริ่มตั้งแต่ความมี"สัมสนญาณ" ที่รู้เห็นไตรลักษณ์ คือ ความเป็น"อนิจจัง"เบื้องต้น ซึ่งยังเป็นโลกียธรรม
ได้แก่ ความมีญาณที่สามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริง "ตัวตนของกิเลส"(สักกายะ) และเห็นแจ้ง"ความไม่เที่ยงของกิเลส" คือ มันไม่เที่ยง มันไม่คงที่เท่าเดิม ตัวตนของกิเลสมันไม่เท่าเดิม แต่มันหนาขึ้น มันใหญ่ขึ้น มันมากขึ้น ซึค่งคำว่า "หนา-ใหญ่-มาก-กว้าง-อ้วน" นี้ภาษาบาลีคือ "ปุถุ" นั่นคือ เราเห็นความเป็น"ปุถุชน"ของเราแท้ ๆ เพราะเห็นตัวจริงของ"ปุถุ"(หนา, ใหญ่, มาก, กว้าง, อ้วน) เห็นความหนาขึ้นของกิเลส-ความใหญ่-ความมาก-ความกว้าง-ความอ้วนขึ้นของกิเลสของเราโทนโท่อยู่หลัด ๆ แท้ ๆ

นี่คือ การเห็น"ความไม่เที่ยง"(อนิจจัง) ในขั้นต้น ของความเป็นปรมัตถธรรม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ใน"มิจฉาทิฏฐิสูตร" พระไตรปิฏก เล่ม ๑๘ ข้อ ๒๕๔ ซึ่งมีรายละเอียดชัดเจนว่า ผู้ปฏิบัติอยู่ในภาวะที่มีอินทรีย์ ๖ เปิดครบทั้ง ๖ ทวาร มีการสัมผัสรู้สัมผัสเห็นอยู่อย่างสามัญ และทั้ง ๖ ทวารก็ทำหน้าที่อยู่ตามชีวิตปกติ กระทั่งสามารถ"มีญาณ"(วิชชา ๘) เห็นแจ้งเห็นจริง" กายในกาย-เวทนาในเวทนา-จิตในจิต-ธรรมในธรรม" ไม่ว่าจะเป็น"เวทนา"(อารมณ์) จะเป็น"กิเลส"(จิตที่เป็นอกุศลจิต)อย่างนั้นอย่างนี้ ก็รู้แจ้งเห็นจริง"อารมณ์"(เวทนา)ตี่าง ๆ "จิต-เจตสิก"ต่าง ๆ ที่เกิดอยู่โต้ง ๆ ในขณะปัจจุบันนั้น

และถ้าผู้ใดสามารถเห็นแจ้งเห็นจริง"โดยความเป็นของไม่เที่ยง"(อนิจจโต) ถือว่าผู้นั้น"พ้นมิจฉาทิฏฐิ"

ในขั้นต้นที่เริ่มเรียกได้ว่า "พ้นมิจฉาทิฏฐิ" ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั้น ก็คือ ผู้ปฏิบัติมีดวงดาแห่งธรรม(ธัมมจักษุ) หรือวิปัสสนาญาณ (วิชชา ข้อ๑) เร่ิมรู้จักเห็นแจ้งเห็นจริง (รู้ชนิดที่มีสัมผัส=ญาณสัมผัสกิเลส) ปรมัตถธรรม(จิต-เจตสิก-รูป-ยังไม่ถึงขั้นนิพพาน)

กล่าวคือ เห็นตัวตนกิเลส ที่อยู่"ในองค์ประชุม(กาย ของเวทนาในเวทนาหรือในจิต (มนสิ)" นั่นทีเดียว และในเบื้องต้นนี้ ก็เห็น"โดยความเป็นของไม่เที่ยง"(อนิจจโต) ซึ่งลักษณะ"ไม่เที่ยง" อย่างหยาบ-กลาง-ละเอียด ตั้งแต่ได้พิจารณาจาก"รูปธรรมหยาบ กายภายนอก เราก็ได้ฝึกได้รู้มาแล้วว่า เป็นอย่างไร แต่นั่นยังไม่ใช่ขั้น"ปรมัตถ์"

ส่วนขณะนี้ ผู้ปฏิบัติได้ปฏิบัติมาถึงขั้นเห็นทั้ง"กายใน-เวทนาใน-จิตใน-ธรรมใน"ได้แล้ว โดยเฉพาะเห็น"ตัวกิเลส" นั่นคือ ผู้ปฏิบัติสามารถวิจัยเจาะเข้าไปจนถึง"เวทนาในเวทนา-จิตในจิต" จนกระทั่งรู้จัีกรู้แจ้งรู้จริง"อกุศลเวทนา" ซึ่งเป็นเจตสิกของ"อกุศลจิต" อยู่"ในจิต"

และเจริญขึ้นถึงขั้นสามารถพิจาณารู้แจ้งเห็นจริงใน"ความไม่เที่ยง"(อนิจจัง)ของตัวตนกิเลสว่า มันไม่เที่ยงมันไม่เป็นอยู่เท่าเดิม มันเปลี่ยนไปจากเดิม มันไม่คงที่

ที่ไม่เท่าเดิมไม่คงที่ ก็เพราะ"กิเลสมันหนา-มันใหญ่-มันมาก-มันกว้าง-มันอ้วน" เพิ่มขึ้น ๆ ตามประสาของปุถุชนที่ไม่รู้จักการทำให้กิเลสลดจนมันดับสนิทได้นั่นเอง

แต่ก็ได้ชื่อว่า ปฏิบัติเข้าถึงปรมัตถธรรมขั้นต้นได้แล้วจริง นี่คือ ขั้นแรกของผู้สามารถปฏิบัติเจ้าถึงปรมัตถ์มีความเจริญของอธิปัญญาสิกขาถึงขั้น"นามรูปปริจเฉทญาณ-ปัจจยปริคคหญาณ-สัมมสนญาณ" และสามารถมีญาณรู้แจ้งเห็นจริง"ความไม่เที่ยง"ของกิเลส ผู้ปฏบัติมีญาณ"ตามเห็นความไม่คงที่ของกิเลส"(อนิจจานุปัสสี) ผู้ปฏิบัติมีญาณ"ตามเห็นกิเลสมันไม่เท่าเดิม"(อนิจจานุปัสสี) ในจิตของตน อนิจจานุปัสสี แปลว่า มีญาณตามเห็น"ความไม่เที่ยง"ของกิเลส นี่เอง

ซึ่งเป็นการเห็นของจริงที่มันเป็นให้เห็นอยู่หลัด ๆ ว่า "กิเลสไม่เที่ยงเพราะมันหนาขึ้น-ใหญ่ขึ้น" กว่าเดิมอยู่โต้ง ๆ

อาจจะมีอธิปัญญาสิกขาเจริญขึ้นถึงขั้นสามารถเห็นปรมัตถธรรมที่เรียกว่า"ความทุกข์" กล่าวคือ มีญาณอ่าน"ทุกขเวทนา"ของตนออก และเห็น"อารมณ์ทุกข์"(ทุกข์เวทนา)ว่ามัน"ไม่่เที่ยง" มันวนเวียนเป็นธรรมชาติ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป เช่น สุขแล้วก็วนกลับไปทุกข์ คือ เมื่อสุขแล้ว พอผ่านเวลาไปความสุขก็หายไปจากจิต แล้วก็อยากเสพสุขนั้นอีก ก็ดิ้นรนแสวงหาตามที่อยาก ถ้ายังไม่ได้เสพสัมผัสตามที่อยาก ก็ทุกข์ พอได้เสพสมใจก็สุขอีก และแล้วก็วนมาทุกข์ใหม่อีก วนแล้ววนเล่าไม่เที่ยง ไม่แท้ แต่เป็นทกุข์ไม่เคยหายไปอยู่นั่นแหละ

นี่คือ เห็น"ความไม่เที่ยง"ขั้นต้น
ต่อจากนั้น ก็ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้กำจัดต้นเหตุคือกิเลส"ด้วยอุบายเครื่อง
ออกหลากหลายนัย เช่น ไตรสิกขา จรณะ ๑๕ หรือ อปัณณกปฏิปทา ๓ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ หรือสติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคองค์ ๘ ซึ่งเป็นการปฏิบัุติให้เกิด"สัมมาสมาธิ" ด้วยวิปัสสนาวิธี-สมถวิธี หรือด้วยวิธี"ปหาน ๕" เป็นต้น

[มีต่อฉบับหน้า]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น