ณ วันเสาร์ ที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓
ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล
เชียงราย, ศุกร์ ที่ 6 สิงหาคม 2553
07.30 น.ออกจากบ้านไปรับพี่ยศ ที่หน้าร้านหนังสือสี่แยก ถ.ไตรรัตน์
ทำอาหาร, ทานข้าวที่ชุมชนดอยรายปลายฟ้า, เปลี่ยนใส่หลังคาใหญ่ของพี่ลือไท เพราะเอาของไว้บนหลังคาได้
กันฝนได้ดีกว่า, ทำให้เสียเวลานานพอควรกว่าจะเสร็จ
ผู้ร่วมเดินทางครั้งนี้จากดอยราย ครูเวียงคำ, พี่ใจทิพย์, ตู่-ปริญญา, แม่ใบตอง
และพี่ลือไทตัดสินใจนาทีสุดท้ายก่อนออกรถ ขอไปด้วย จึงรีบไปเก็บเสื้อผ้าและของใช้ยัดใส่กระเป๋าขึ้นรถ
11.00 น. โทร.บอกพี่แจ่ม/พะเยา ว่ากำลังออกเดินทางจากเชียงราย (ช้ากว่าที่กำหนดไว้ 1 ชม.)
12.00 น. ถึง จ.พะเยา เลี้ยวรถเข้าซอย ไปรับป้าคำหวาน(รอนานพอควร เพราะปรากฏว่าป้ายังกำลังทานข้าวเที่ยงกับสามี และยังไม่ได้เก็บเสื้อผ้าเลย กระเป๋าเดินทางยังคงว่างเปล่า 555 อยู่คนละที่กับเสื้อผ้า, ป้าเชิญทุกคนให้ลง
จากรถ เข้าห้องน้ำ และนั่งรออยู่ชั้นล่างของบ้าน ก่อนที่ป้าจะหันมาจูง(ลาก)แขนเราและพี่ใจทิพย์ไปนั่งเป็นเพื่อนสามีป้าในโต๊ะอาหาร ก็เลยคุยเรื่องสุขภาพอาหารการกินของผู้ป่วยที่ควรหันมาทานอาหารมังสวิรัติกันบ้าง เพราะสังเกตุบนโต๊ะอาหารจะอุดมไปด้วยเมนูปลา ขณะที่ป้าจับก้อนข้าวเหนียวจิ้มน้ำพริก และกับข้าวอีกสองสามคำยัดใส่ปากตัวเอง เคี้ยวตุ้ย ๆ สี่ห้าครั้งก่อนกลืนลงคอ ขณะที่ยังไม่หยุดคุย คิคิ..
ป้าคำหวานหันไปคว้ากระเป๋าเดินทางใบย่อม สีครีม หาผ้าเช็ดลวก ๆ ก่อนจะหยิบเสื้อผ้าม้วน ๆ ใส่ลงไป คว้าผ้าเช็ดตัวแล้วเดินเข้าห้องน้ำ ก่อนทำสงครามกับน้ำหลายขันในนั้น ขณะที่เรายังคงนั่งเป็นเพื่อนคุยกับคุณลุงที่ยังคงทานข้าวอร่อยอยู่ ด้วยเพราะเราไม่รู้จะทำอะไรที่ดีกว่านั้น นานพอควร ที่เรารอป้าคำหวานเก็บของ แต่งหน้า และเป็นพะวักพะวนกับคุณลุง ซึ่งสุขภาพก็ไม่ค่อยดีนัก ได้ยินว่าวันสองวันก่อนหน้านี้ คุณลุงยังเคยวูบ แต่วันนี้คุณลุงก็เดินได้พูดได้ และเข้าใจดีถึงภารกิจเพื่อชาติที่ภรรยาสุดที่รัก กำลังจะไปร่วมภาระกิจกับพวกเรา
คุณลุงทานข้าวอิ่มและเดินไปดูป้าคำหวานเก็บข้าวของในห้องนอน จึงทำให้พวกเราได้โอกาส เลยลงไปรอที่ชั้นล่างของตัวบ้าน เดินไปที่รถ เพื่อจะเร่งป้าคำหวานไปในตัว ปรากฏว่าป้ายังคงโอ้เอ้ห่วงใยคุณลุง และมีสารพัดของจำเป็นที่ต้องนำไปด้วย (คิคิ.. คนเราเวลาจะเดินทางนี่ เข้าใจจริง ๆ ว่ามีอะไรมากมายที่จะต้องนำไปด้วย) เราเลยขึ้นไปตามป้าฯ อีกครั้ง และกล่าวว่า จะให้หนูช่วยถืออะไรไหมคะ ? (เป็นคำถามอ้อม ๆ ในการเร่งรัดป้าคำหวาน) ป้าหยิบกระเป๋าเดินทางให้ ก่อนจะหยิบของใช้บางอย่างยัด ๆ แถมเข้าไป เราก็ถือขึ้นรถ รอ .. แต่ป้ายังคงไม่มา คิคิ.. เราก็ไปตามอีก ขณะที่บางคนนั่งรอประจำที่ในรถแล้ว แล้วเราก็เดินไปยิ้มและพูดคุยกับคุณลุง พูดคุยเรื่องลูกหลานที่อยู่ด้วย ขอบคุณที่คุณลุงให้คุณป้าคำหวานไปด้วยกับพวกเรา ป้าคำหวานหยิบแบ้งค์ฟ่อนหนึ่งยัดใส่กระเป๋าถือสีดำ รีบจนลืมรูดซิป เราเตือน เพราะกลัวจะหล่นหายไปเสียทั้งหมด แล้วป้าก็เหลียวหน้าเหลียวหลังอย่างกังวล ก่อนจะไปไหว้ที่อกของคุณลุงสามี, สั่งเสียให้ดูแลตัวเอง และอย่าลืมทานยา เราไปจูงมือป้าฯ เบา ๆ ก่อนที่ป้าจะกลับไปเอาอีกบางอย่างที่ลืม แล้วเดินลงมา นึกว่าจะขึ้นรถ ปรากฏว่า ป้าเดินไปที่ศาลพระภูมิ ยกมือท่วมหัวก่อนที่จะหลับตา ทำปากขมุบขมิบ
ก่อนออกจากบ้านป้าคำหวานเดินไปบอกลูกสาว และลูกสะใภ้ให้ดูแลพ่อ และลากันด้วยรอยยิ้ม ครอบครัวนี้จึงดูอบอุ่นน่ารัก และเป็นกันเองในสายตาเรา ส่วนป้าคำหวาน ก็โอ้เอ้ เราก็ไม่ควรถือสา เพราะแกก็อายุเยอะ แต่น้ำใจให้แก่ชาติบ้านเมืองนั้นงดงาม เสียสละ
พอทุกคนขึ้นรถครบแล้ว ก็โทร บอกพี่แจ่ม ซึ่งบอกว่ารออยู่ที่ปั๊ม ปตท.แยกแม่ต๋ำ แต่เราก็ขับรถเลยจนได้ เพราะอีกคนในรถบอกว่ามีอีกปั๊มหนึ่ง เราจึงโทร ถามอีกครั้ง ก็เลยต้องยูเทิร์นรถกลับคืน แล้วเจอพี่แจ่ม ยืนถือป้ายผ้าขนาดเล็ก ทวงคืนเขาพระวิหาร ชูไว้เหนือหัว ยืนยิ้มรออยู่ฝั่งตรงข้ามปั๊ม ปตท.นั่นเอง ทุกคนขึ้นรถครบแล้ว ป้าคำหวานกับพี่แจ่มนั่งกระบะหลังกับพี่ยศและพี่ลือไท 4 คน ส่วนข้างหน้า 5 คน(แม่ใบตอง,ครูเวียงคำ,พี่ใจทิพย์) รวมพี่แมนคนขับและเราเอง
17.00 น. แวะทานข้าวเย็นที่ปั๊มใหญ่ ใน จ.พิษณุโลก พักรถไปในตัว
จำไม่ได้ว่า เราออกเดินทางกันอีกในเวลาเท่าไหร่ ? แต่ขณะรถกำลังวิ่ง พวกเราพูดคุยสัปเพเหระกัน นาน ๆ จะได้มาด้วยกัน เสียงจึงเจี้ยวจ๊าวไปหมด
ประมาณทุ่มนึง - สี่ทุ่ม น้องอร ลูกสาวพี่ใจทิพย์ ทำงานอยู่ กทม.โทร มาบอกข่าวเป็นระยะ ๆ ถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่แทบทุกครึ่งชั่วโมง อรบอกว่า ทางกองทัพธรรมให้ทุกคนไปรวมตัวกันที่สันติอโศก ไปถึง กทม.แล้วอย่าเพิ่งไปข้างทำเนียบ เพราะเขาประกาศกฏอัยการศึกฯ หากใครฝ่าฝืนจะมีโทษถูกจับ, ปรับ และจำคุก ใกล้จะถึง กทม.พี่ยศมาช่วยผลัดกันขับ ส่วนพี่แมน ไปนอนอยู่กระบะหลัง พี่ยศค่อนข้างคล่องเส้นทางใน กทม.พอควร เพราะเคยอยู่และขับรถใน กทม.นาน, ช่วงระหว่างที่แวะปั๊ม พี่ใจทิพย์ขอไปนั่งเหยียดขาที่กระบะหลัง เพราะนั่งงอขามาไกล เมื่อยมาก จึงสลับพี่แมนมานั่งข้างหน้าคู่คนขับ เรานั่งที่แค็บแทน
พวกเราปรึกษากันในรถว่า ไหน ๆ เราก็เดินทางมาไกลจากเชียงราย ทำเนียบก็ใกล้อีกไม่กี่ กม. ก็จะถึง(เมื่อเทียบกับความไกลจากที่พวกเราเดินทางมา) เพื่อให้คุ้มเหนื่อยกับการเดินทาง เราจะขอไปที่ข้างทำเนียบว่า จะถูกปิดกั้นจริงหรือเปล่า ? จะเข้าได้ไหม ? จะมีใครบางคน พี่น้องเราบางกลุ่มปักหลักรอพวกเราอยู่ที่นั่นกันบ้างหรือเปล่า ? นี่คือสิ่งที่เราอยากรู้ อยากเห็นกับตาตัวเอง ..
เราคาดว่า ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ร.๕ เป็นที่หมาย ที่พวกเราคนไทยสามารถเข้าไปพึ่งพระบารมีของพระองค์ได้ คงจะเป็นที่ ที่อบอุ่นปลอดภัยพอควรสำหรับประชาชนชาวไทยคนเล็ก ๆ อย่างพวกเรา ที่คือความรู้สึกผูกพันที่พระองค์(สถาบันกษัตริย์ไทย)เป็นเสมือนพ่อของแผ่นดินเสมอมา ไม่ว่ายุคใดสมัยใด แม้พระองค์ทรงล่วงลับไปแล้ว พระบารมีของพระองค์ ก็ยังคงอยู่ทำให้พวกเราได้รำลึกนึกถึง และคุ้มเกล้าพวกเรามาจนถึงบัดนี้ และนี่เองคือ "พลังศรัทธา" ที่ทำให้คน "กล้า"(คือเชื่อมั่น) ไม่เกรงกลัวภยันอันตรายใด ๆ..
ห้าทุ่มกว่า .. น้องอร โทร เข้าโทรศัพท์มือถือของเรา บอกว่าโทร เข้าเครื่องแม่กับพ่อ ก็ไม่รับสาย เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า ? ถามเราว่าน้าฯ "เดินทางถึงไหนกันแล้ว" เราบอกว่า "อยู่บนทางด่วน กำลังจะมุ่งหน้าไปสะพานปิ่นเกล้า เพื่อจะแวะไปดูว่าถนนรอบทำเนียบถูกปิดกั้น และเข้าไม่ได้จริงหรือไม่ ?" เพราะจุดหมายในการมาของพวกเราอยู่ที่นั่น
น้องอร บ่นแบบไม่ค่อยพอใจ เหมือนว่าพวกเราดื้อ ไม่เชื่อที่อุตส่าห์โทร บอกแม่แล้วให้ไปที่สันติอโศกอย่าไปแถวทำเนียบ "แม่ฯ ไม่บอกน้าฯ หรือไง? " เราตอบว่า "แม่บอกแล้ว แต่พวกน้า ยังคาใจ อยากไปให้เห็นกับตาหน่ะนะ ต้องขอโทษ น้องอร ด้วยที่ทำให้เป็นห่วง และขอบคุณที่แจ้งข่าว" อรเงียบไป และวางสาย
ราวเที่ยงคืน พี่ยศขับรถพาขึ้นทางด่วนข้ามสะพานปิ่นเกล้า เลี้ยวเข้า ถ.ราชดำเนิน ไปเจอรถเคลียร์นำทางขบวนเสด็จฯ ถนนไม่มีการปิดกั้น เราขับตามไปช้า ๆ ก่อนจะมีรถนำขบวนอีกคัน เปิดสัญญาณขอทาง พวกเราหยุดรถข้างทาง หลีกรอขบวนเสด็จให้เคลื่อนผ่าน จนหมดขบวนรถเก๋งสีแดงไม่ยืดยาวนัก ตบท้ายด้วยรถรักษาความปลอดภัยอีกแค่ 2-3 คัน แล้วเราก็รีบตามหลังไป เผื่อว่าเขากั้นถนน เราจะได้ผ่านเข้าไปได้ก่อน ติดไฟแดงที่แยกมิสกวัน ด้านขวา มี จนท.ทหารยืนแถวหลังรั้วเหล็กที่นำมากั้นบริเวณทางเข้า ถ.พิษณุโลก แล้วเราก็ข้ามแยกมิสกวัน มาถึงลานพระบรมรูป ร.๕ เราขับรถวนอนุสาวรีย์รอบนึง เพื่อสำรวจบริเวณ ซึ่งมีการตั้งเต็นท์ขนาดใหญ่จำนวนมาก เพื่อเตรียมจัดงานสัปดาห์วันแม่แห่งชาติบริเวณนี้ พวกเราปรึกษากันว่า เราจะตั้งเต็นท์หรือแขวนกลดปูเสื่อนอนกันแถวนี้
รอบ ๆ พระบรมรูปฯ มีแม่ค้า 4-5 เจ้า ตั้งโต๊ะขายกุหลาบชมพู, ธูป-เทียน และพวงมาลัย ไหว้ถวายองค์ ร.๕ (ตอนแรกเราก็เฉย ๆ แต่คิดอีกทีนึง เมื่อเราจะมานอนแถวนี้ เราก็ควรอุดหนุนแม่ค้าหน่อย จะได้หาแนวร่วม หรือผูกสัมพันธ์กับขาใหญ่ย่านนี้ ) เราควักเงินซื้อกุหลาบ+ธูปเทียน 3 กำ ๆ ละ 20 บาท (3 กำ 50 บาท) นำมาแกะแบ่งให้คนอื่น ๆ ได้นำไปไหว้ ขณะที่เสียงแม่ค้าตะโกนว่าต้องไหว้คนละกำ จำนวนดอกกุหลาบและธูปเทียนต้องครบ(กี่ดอกก็จำไม่ได้) ทำให้คนอื่น ๆ ที่กำลังจะรับกุหลาบที่เราแบ่งชะงักไป เราก็เลยบอกว่า ไม่เป็นไร ช่วยกันนำไปไหว้นะ รวม ๆ กันก็ครบจำนวนเองแหละ อย่าคิดมาก .. บางคนก็รับและนำไปไหว้ บางคนก็ไม่เอาขอไหว้ด้วยมือเปล่า ๆ +ใจ ก็แล้วแต่สมัครใจ..
แล้วเราก็ไปจุดธูปไหว้พระบรมรูป ร.๕ ตัวเราเองตั้งจิตสงบ รำลึกถึงพระคุณของพระองค์ ร.๕ ที่ทรงมีคุณูปการมากมายที่ทรงสร้างทิ้งไว้เป็นสมบัติแก่แผ่นดิน แต่ถูกคนไทย นักการเมืองไทยผู้เห็นแก่ตัว ได้นำไปสร้างผลประโยชน์ใส่ตัวเองและพวกพ้อง แทนการใช้การทำประโยชน์สุขแก่ราษฎรไทย ดั่งพระราชประสงค์ของในหลวง ร.๕ และบรรพกษัตริย์ไทย ตลอดจนถึงรัชกาลปัจจุบันไม่ ? เราได้ระลึกถึงการมาในครั้งนี้ว่า เราจะมาทำภาระกิจกอบกู้บ้านเมืองโดยเฉพาะดินแดนรอบเขาพระวิหาร 4.6 ตร.กม. ที่เขาเรียกกันว่าเป็น"พื้นที่ทับซ้อน" ตาม MOU 2543 (ทั้งที่ก่อนหน้าจะมี MOU 2543 ไม่มีพื้นที่บซ้อน มีแต่พื้นที่ของประเทศไทยตามแนวสันปันน้ำ มีเพียงตัวปราสาทพระวิหารอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นของกัมพูชา ซึ่งตั้งอยู่ในแผ่นดินไทย ตามคำพิพากษาศาลโลก เมื่อปี พ.ศ. 2505) และเรายังมากอบกู้คืนแผ่นดิน รวมประมาณ 1.8 ล้านไร่ (ที่กำลังถูกชาวเขมรรุกล้ำมาตั้งบ้านเรือน ทำมาหากิน และออกโฉนดทับที่แทน บนแผ่นดินไทย โดยชาวไทยเดิมที่เคยตั้งบ้านเรือนอยู่แถบนั้น ต้องถอยร่นเข้ามายังแผ่นดินไทย เพราะเกรงกลัวอันตรายจากการปล้นสะดมภ์ของทหารเขมรบ้าง การถูกจับตัวไปขังยังฝั่งเขมร เพื่อเสียค่าปรับบ้าง จากเล่ห์กลของฝ่ายข้าราชการไย ที่ทำแผนการณ์อพยพย้ายชาวบ้านไทย ที่เคยตั้งบ้านเรือนที่ทำกินประชิดแนวชายแดน ให้ซ้อมอพยพหนีภัยจากถิ่นที่อยู่เดิม เข้ามาลึกในฝั่งไทยประมาณ 5-30 กม. เสร็จแล้วก็ไม่อนุญาตให้อพยพโยกย้ายกลับถิ่นเดิม ทั้งที่แต่แรกบอกว่าเป็นแค่การ"ซ้อมอพยพ" แต่กลับสั่งให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่แห่งใหม่ โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัย ทำให้ชาวบ้านเหล่านี้ต้องสูยเสียที่ดินทำกิน ผลผลิตที่ปลูกไว้ในที่เดิม ก็ถูกชาวเขมรรุกเข้ามาเก็บกิน, อาศัยแทน พร้อมตั้งหลักปักฐาน รับโฉนดที่ดินจากรัฐบาลเขมรที่ออกให้อย่างเร่งด่วนคนละ 20 ไร่ ทับแทนที่ดินของคนไทย บนผืนแผ่นดินไทย)
ขณะที่เราตั้งจิตสงบรำลึกนั้น ก็อดที่จะสลดอนาถใจ กับท่าทีเพิกเฉยของรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ไม่มีทีท่าใด ๆ อย่างชัดเจนเลยที่จะต่อต้านการรุกรานของชนชาวเขมรที่ร่วมมือกันกับรัฐบาลกัมพูชาอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า นายกอภิสิทธิ์ และคณะรัฐบาลไทย, กระทรวงการต่างประเทศ, ทหารไทย รวมกระทั่ง ท่านฑูตกษิต ภิรมย์ ที่เคยเป็นพันธมิตรร่วมต่อสู้กับพันธมิตรอย่างเหนียวแน่น ในช่วงชุมนุม 193 วัน เองเมื่อได้เป็นใหญ่ มีอำนาจบริหารบ้านเมือง กลับเปลี่ยนไป กลับนิ่งเฉย ที่จะปกป้องผลประโยชน์ของบ้านเมือง ของแผ่นดิน ละเลยที่จะรักษาขอบขัณฑสีมาขององค์ในหลวง รัชกาลที่ ๙ แถมพวกเขาทั้งหลาย ก็ยังมีพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นว่า กำลังสมยอม, รู้เห็นเป็นใจให้รัฐบาลกัมพูชา ได้ครอบครองดินแดนรอบบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร และพื้นที่ 1.8 ล้านไร่เพิ่มเติม ณ ปี พ.ศ.2553 ที่คนเขมรได้รุกล้ำเข้ามาอีกด้วย
ก็ได้แต่ทำใจว่า มันเป็นยุคกาลแห่งความเสื่อม คนชั่วครองเมือง ความชั่วหรือซาตาน มีอำนาจครอบงำความดี คนดีให้แพ้พ่าย ให้อ่อนด้อยในอำนาจ ส่วนผู้ที่มีอำนาจในแผ่นดิน ก็ดลบันดาลให้มีดวงตาอันมืดมน เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ให้คนดีถูกรุกราน แต่กลับอภิบาลคนชั่วให้เจริญขึ้น
เราในฐานะชาวอโศก พ่อท่านสมณะสอนว่า เราไม่ใช่ชาวเทวะนิยม(นับถือเทพเจ้า, เทวดา,ภูต,ผี ว่ามีจริง มีอำนาจดลบันดาลช่วยเหลือเราได้ ) แต่เราเป็นชาวอเทวะนิยม(เชื่อในการกระทำกรรมดี กรรมชั่ว ของตน ว่ามีผล ให้ผลต่อชีวิตเราในวันนี้, วันหน้า และชาติหน้าต่อ ๆ ไป) แล้วเราก็ได้รำลึกถึงคุณงามความดีทั้งหลายขององค์ในหลวง ร.๕ และบรรพกษัตริย์ตลอดจนถึงรัชกาลปัจจุบันว่า ขอความดีงามของท่านทั้งหลาย ได้เป็นแบบอย่างให้พวกเรามีพละกำลัง รวมจำนวนผู้คนที่มีจิตใจรักบ้านรักเมือง ลุกกันขึ้นมาร่วมกันทำ แก้ไขสิ่งผิดให้เกิดความถูกต้องตามอย่างที่ควรจะเป็น อย่างเป็นธรรม ถูกเที่ยงตามสัจจะ อย่างสุดกำลังความสามารถของพวกเราแต่ละคน ให้พวกเรามีจิตใจอันเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว สติปัญญาฉลาดเฉลียว ในอันที่จะกอบกู้บ้านเมือง ซึ่งเป็นภาระกิจที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ นี้ ให้จงประสบผลสำเร็จ ด้วยความมานะพยายามอย่างไม่ย่อท้อ แม้ว่าจนถึงที่สุดพวกเราที่มาในคราวนี้ อาจจะต้องถึงแก่การสูญเสียชีวิต ก็จะยังคงมีผู้อื่นต่อ ๆ ไป ที่จะสานต่อภาระกิจเหล่านี้ต่อไป ๆ และ ต่อไป จนประสบผลสำเร็จในที่สุด ดังที่บรรพบุรุษของเรา ได้ทำกันมาเป็นตัวอย่างแก่พวกเราตลอดมา และเราได้เป็นผู้สืบสานปณิธานเหล่านี้ต่อไปให้แก่ลูกหลาน.
..
แล้วเราก็เดินออกกำลังกายรอบ ๆ พระบรมรูป พลางก็ตกตะกอนความคิดไปในตัว..
แล้วก็เดินกลับมาที่รถ บางคนก็กำลังเก้ ๆ กัง ๆ ว่าจะปูเสื่อนั่งรอ นั่งพัก หรือยังไงต่อกันดี
เราปรึกษากัน แล้วตกลงว่า ในเมื่อที่นี่ (ลานพระบรมรูป ร.๕) ไม่มีพี่น้องเราล่วงหน้ามาปักหลักพักค้างรอพวกเรา อย่างที่เราได้คาดหมายไว้ก่อน เราน่าจะไปดูที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น(ดินแดง) ที่นัดหมายใหม่แทนการไปหาที่นอนที่สันติอโศก เพื่อที่ฝ่าการจราจรติดขัดในตอนเช้า เพื่อที่จะกลับไปทันกิจกรรมตามนัดหมาย 8 โมงเช้า ที่สนามกีฬาฯ แต่เราจะไปหาที่นอนรอแถวสนามกีฬาฯ รอดีกว่า เป็นการประหยัดน้ำมัน และพักเมื่อย (เพราะที่สันติอโศกคงมีผู้คนมากมาย และที่พักจะไม่พอสำหรับพวกเรา อีกอย่างก็ดึกมากแล้ว ทุกคนนอนหลับกันหมดแล้ว การไปของเรา ก็เป็นการรบกวนผู้ที่ไปถึงก่อน)
แล้วพี่ยศ ก็ทำหน้าที่พลขับ ขับผ่านไปทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พาพวกเราไปซอกซอนหาสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น(ดินแดง) ซึ่งแกบอกว่าเคยไปเมื่อนานมาแล้ว อาจจะหลง เลยต้องจอดถามผู้คนข้างทางเป็นระยะ ๆ เหมือนกัน เกือบตี 2 เราก็ถึงที่หมาย...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น