24 ก.ย. 2553

หนังสือ ชุมชนปฐมอโศก การศึกษา พุทธยูโทเปีย-2 ประวัติของพระโพธิรักษ์

จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ก็ยังไม่ปรากฏว่า ได้มีการตีพิมพ์ชีวประวัติของพระโพธิรักษ์ ที่เขียนโดยบุคคลภายนอกชิ้นใด ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นงาน"มาตรฐาน" ที่ควรแก่การอ้างอิงได้ ชีวประวัติของพระโพธิรักษ์ ซึ่งมีความหมายเป็นอย่างมากสำหรับชาวอโศกนั้น เราพอจะรู้โดยสังเขปได้ ก็เฉพาะจากที่ปรากฏเป็นคำบอกเล่าของตัวพระโพธิรักษ์เองในหนังสือ สัจจะแห่งชีวิตของพระโพธิรักษ์



ว่าท่านเกิดเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๗ ตรงกับวันอังคาร แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ ที่จังหวัดศรีสะเกษ มีชื่อเดิมว่า มงคล รักพงษ์ มารดาชื่อ นางบุญโฮม บิดาแท้ชื่อนายทองสุข แซ่โง้ว แต่ก็ถึงแก่กรรมเสียแต่เมื่อพระโพธิรักษ์มีอายุยังไม่ครบขวบ ต่อมาภายหลังจึงมีบิดาเลี้ยง ชื่อ สิบโทบุญเฉย รักพงษ์ และมีน้องร่วมมารดาอีก ๙ คน ในจำนวนนี้ถึงแก่กรรมเสียตั้งแต่ยังเล็ก ๓ คน รวมน้อง ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ๖ คน ทั้งตัวพระโพธิรักษ์เองด้วยเป็น ๗ คน







รกรากเหล่ากอดั้งเดิมของปู่ย่าตาทวดของพระโพธิรักษ์อยู่ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี แต่เดิมทีนั้นฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวจัดได้ว่าอยู่ในขั้นดี เพราะมีมารดาเก่งในทางค้าขาย จนเป็นคนมีชื่อเสียงมากคนหนึ่งในจังหวัด แต่มาภายหลังถูกโกง และสุดท้ายก็ล้มป่วยเป็นวัณโรค จนกระทั่งเสียชีวิตไปในที่สุด บิดาเลี้ยงก็กลายเป็นคนติดเหล้า จึงเป็นเหตุให้ฐานะทางเศราษฐกิจของครอบครัวทรุดลงทางหนึ่งด้วย ในฐานะที่พระโพธรักษ์เป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว จึงต้องรับบทเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัวมาตั้งแต่อายุยังน้อย แม้ต่อมาในภายหลังก็ยังได้พยายามขวนขวายอุปการะเลี้ยงดูน้อง ๆ ทุกคน จนเติบใหญ่พอพึ่งตนเองได้




เหตุที่เป็นไปได้เช่นนี้ ก็เนื่องจากพระโพธิรักษ์เป็นผู้มีอุปนิสัยรักการขวนขวายมาตั้งแต่เล็ก ประกอบกับชีวิตในวัยเด็กก็ต้องพลัดพรากจากความอบอุ่นภายในครอบครัว ไปอาศัยอยู่กับผู้มีอุปการคุณอื่น ๆ ในที่ต่าง ๆ อยู่เรื่อย ๆ ได้ฝึกช่วยตนเอง มาแต่เล็กแต่น้อย




เมื่อพิจารณาจากสถานะของพระโพธิรักษ์ในปัจจุบันนี้แล้ว ก็อาจกล่าวได้ว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เอง ได้กลายเป็นประสบการณ์ที่ค่อย ๆ ฟูมฟักบุคลิก ช่วยเพิ่มพูนความสามารถรอบตัวให้แก่ตนด้วยเหตุที่ต้องช่วยผู้มีอุปการคุณเหล่านั้น ทำการงานต่าง ๆ นานา




พระโพธิรักษ์เองเล่าเอาไว้ตอนหนึ่งว่า ต้องทำงานสารพัดอย่าง ตั้งแต่เมื่ออายุได้ราว ๘-๙ ขวบ เช่น ช่วยทำขนม กับข้าว งานในครัว ขูดมะพร้าวทำแกง โขลกพริก เมื่อพอมีเวลาว่างบ้างก็ขูดกะลาทำกระบวย ทำกระจ่า ขัดคันกระบวย เข้าป่าตัดฟืน ลงอวนจับปลา คั่วเม็ดมะขามขาย รับไอติมแท่งมาหิ้วกระติกเร่ขาย เข็นคถถ่ายไปขาย รับจ้างแจวเรือ เป็นกุลีแบกหามตามสถานีรถไฟ ตื่นนอนแต่เช้าเพื่อไปเลือกหาซื้อของสารพัดมาขาย มีทั้งผ้า ผัก ผลไม้ ปลาร้า เนื้อเค็ม ข้าวสาร เมื่อมีรายได้เป็นเงิน ก็เกิคความภาคภูมิใจในความสามารถของตน ทั้ง ๆ ที่ทุกวันจะต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้าตีสามตีสี่ และค่ำ กว่าจะได้เข้านอนก็ประมาณสองหรือสามทุ่ม โดยที่กลางวันยังต้องไปโรงเรียนด้วย



ประสบการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ รอบตัวในทางธุรกิจเหล่านี้ น่าจะเป็นหนทางให้พระโพธิรักษ์เป็นคนรอบรู้ เกินกว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกันจะมีได้




ในด้านการเล่าเรียนของพระโพธิรักษ์ในวัยเด็กนั้น ก็ปรากฏว่าต้องโยกย้ายโรงเรียนบ่อยถึง ๙ แห่ง รวม ๔ จังหวัด พอถึงระดับชั้นมัธยมปีที่ ๗-๘ จึงได้เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่ ๔ ที่โรงเรียนสีตบุตรบำรุง จากนั้นก็เข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยเพราะช่างจนกระทั่งจบปีที่ ๕ แผนกวิจิตรศิลป์ ในราวปี พ.ศ.๒๔๙๖-๒๕๐๐ ได้ประกาศนียบัตร ปวช. และ ปวส.




และในช่วงปีสุดท้ายที่โรงเรียนเพราะช่างนี้เอง ที่พระโพธิรักษ์ได้เปลี่ยนชื่อตนเองเป็น รัก รักพงษ์ (แต่ไม่ปรากฏว่า ได้มีการให้เหตุผลถึงการเปลี่ยนชื่อนี้ไว้ในหนังสือ สัจจะแห่งชีวิตของพะระโพธิรักษ์ แต่อย่างใด)




ในช่วงที่เข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯนั้น พระโพธิรักษ์ต้องทรหดอดทนขวนขวายช่วยตัวเอง ในทางเศรษฐกิจไม่น้อย เพราะขณะนั้น มารดาได้เริ่มล้มป่วยแล้ว เศรษฐกิจของครอบครัวกำลังทรุด ตัวพระโพธิรักษ์ต้องไปเป็นเด็กวัดที่วัดบรมนิวาส และได้รับความประทับใจในแง่ลบกับการเป็นเด็กวัด อันได้แก่ความลำเอียงของอาจารย์ที่วัด และเรื่องไม่ยุติธรรมอื่น ๆ อีกมากมาย จนกระทั่งต้องย้ายไปอยู่กับ คุณล้วน ควันธรรม นักประพันธ์เพลงชื่อดังในสมัยนั้น เพราะพระโพธิรักษ์เองชอบศิลปะด้านนี้ เคยหัดแต่งเพลงเองร้องเองมาตั้งแต่อายุเพียง ๑๔-๑๕ ขวย ครั้นมีเหตุการณ์ไม่ค่อยดีทางวัด เมื่อคุณล้วนชวนไปอยู่ด้วย จึงออกจากวัดไปอยู่บ้านคุณล้วน ซึ่งพระโพธิรักษ์ต้องช่วยทำงานภายในบ้านทุกอย่าง รวมั้งการออกถีบจักรยานเร่ขายหนังสือเพลงให้คุณล้วนด้วย และถึงแม้ว่า คุณล้วนจะไม่ได้ส่งเสริมพระโพธิรักษ์ในด้านศิลปะทางเพลง แต่การที่ได้มีโอกาสมาอาศัยอยู่กับคุณล้วน ก็เป็นโอกาสดีที่ทำให้พระโพธิรักษ์เป็นคนกว้างขวางขึ้นในวงการต่าง ๆ เช่น วงการเพลงและวงการหนังสือพิมพ์ เป็นต้น




อย่างไรก็ตาม ต่อมาพระโพธิรักษ์ก็ได้แยกทางกับคุณล้วนและชีวิตยิ่งต้องระหกระเหินมากขึ้น คืออดมื้อกินมื้อ อาศัยร่มไม้ชายคาของชาวบ้านเขาซุกหัวนอนไปเรื่อย ๆ ออกบ้านนี้ไปบ้านโน้นทำการงานรับใช้เขาไป เช่น รับจ้างระบายสีรูปโฆษณาภาพยนตร์บ้าง แบกขน ติดต่อ ปัดกวาดเช็ดถูบ้าง พระโพธิรักษ์ได้กล่าวถึงการแต่งตัวของตนเองในขณะนั้นว่า เป็น "อิปปี้รุ่นแรก" ทั้งนี้ก็เพราะยากจนมากถึงกับต้องปะชุนเสื้อผ้าเอง




ประสบการณ์ที่พระโพธิรักษืได้มีโอกาสประสบมากับชีวิตของตนเองในช่วงนี้นั้น อาจกล่าวได้ว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำไปสู่ข้อประจักของพระโพธิรักษ์ในภายหลังว่า สำหรับผู้ที่มีความสามารถและมีมานะอดทนแล้ว ความยากจนก็ไม่อาจร้ายกาจกับชีวิตได้ จนเกินไปนัก




สำหรับตัวพระโพธรักษ์นั้น ภายหลังปรากฏว่า ความเป็นอยู่ค่อยดีขึ้น เพราะได้คุณลุงผู้ซึ่งเป็นแพทย์จัดการให้ได้เข้าอาศัยในหอพักบุตรข้าราชการทหารบก ได้สำเร็จ ในฐานะที่บิดาเลี้ยงของท่านคือ สิบโทบุญเฉย รักพงษ์ เคยเป็นข้าราชการทหารมาก่อน


และได้รับจักรยานจากคุณลุงมาใช้ถีบส่งหนังสือพิมพ์หาเงินเลี้ยงตัว


ในราวปี พ.ศ.๒๔๙๘ เมื่ออายุย่างจะเข้า ๒๐ ปี พระโพธิรักษ์ก็มีผลงานการประพันธ์เพลงที่โด่งดังมากขึ้นมาชิ้นหนึ่ง คือ เพลง "ผู้แพ้"


ในภายหลัง พระโพธิรักษ์ได้กล่าวถึงความใฝ่ฝันของบิดามารดาและชีวิตในวัยเด็กของตน ซึ่งถูกกำหนดโดยภาวะทางเศรษฐกิจไว้ว่า


อาตมาขยันแต่เด็กแต่เล็ก อาตมาก็ขยัน ขยันทำมาหากิน ขยันฝึกหัดฝีมือ อะไรที่ว่ามันดี พ่อแม่พาทำ อาตมาทำ พ่อแม่ส่งไปหัดไปฝึกกะคนนั้นคนนี้ อาตมาก็ไป ไปเรียนไปรู้มาตั้งแต่เด็ก แล้วก็ศึกษามาตลอด พ่อแม่อยากให้เป็นแพทย์ เพราะเห็นว่านายแพทย์หาเงินได้คล่อง เพราะว่าคนมันเจ็บจะตายอยู่แล้ว มันเท่าไหร่มันก็จ่าย เป็นการงานที่รีดนาทาเร้นได้ง่ายที่สุด(5)




แม้ว่าภาวะทางเศรษฐกิจน่าจะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการที่ทำให้ในที่สุดแล้ว พระโพธิรักษ์ไม่ได้มีโอกาสศึกษาแพทย์อย่างที่บิดามารดาตั้งใจ แต่ในสมัยที่ยังเรียนอยู่ที่เพาะช่างนั้น พระโพธิรักษ์ก็ได้เริ่มฉายแววแห่งการเป็นผู้นำสังคมในระดับหนึ่งแล้ว โดยเริ่มตั้งแต่ได้เป็นหัวหน้าขชั้น และเป็นประธาน"อาชีวสัมพันธ์" ที่สุดก็ได้เป็นประธานนักเรียน และในฐานะดังกล่าว ก็ได้เคยประสบกับปัญหาขัดแย้งกับผู้ใหญ่ทางโรงเรียน ในเรื่องการจัดทำหนังสือประจำปีของสถาบัน ที่ตัวเองตั้งใจเอาไว้ว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด โดยที่ก็ได้รับความสนับสนุนจากเพื่อนนักเรียนเป็นอย่างมาก แต่กลับถูกผู้ใหญ่ของโรงเรียนสั่งระงับ




เมื่อเกิดสภาวะตึงเครียดอย่างมาก ระหว่างผู้ใหญ่และนักเรียนขึ้น ในฐานะที่เป็นตัวเชื่อมประสาน และเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง พระโพธรักษ์จึงได้ขอลากออกจากตำแหน่งเสียแต่เพียงผู้เดียว เหตุการณ์ขัดแย้งในครั้งนั้น พระโพธิรักษ์ได้กล่าวว่า




เป็น"ประสบการณ์ในสงครามชีวิตระดับเล็ก ๆ ช่วงหนึ่งของอาตมาเอง"(6)




เมื่อพระโพธิรักษ์จบการศึกษาวิชาชีพที่โรงเรียนเพาะช่างนั้นมารดาได้เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นในฐานะที่เป็นบุตรชายคนโตของครอบครัว จึงต้องรับภาระปกครองเลี้ยงดูแลน้อง ๆ ด้วยเหตุแห่งความรู้สึกรับผิดชอบนี้เอง พระโพธิรักษ์จึงต้องเร่งขวนขวายสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ ด้วยการทำงานทุกอย่าง ที่จะเป็นช่องทางให้ได้เงินมา




เริ่มต้นด้วยการเข้าทำงานประจำเป็นนักจัดรายการโทรทัศน์ที่บริษัทไทยโทรทัศน์จำกัด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๑ ตั้งแต่เมื่อเริ่มมีโทรทัศฯเป็นครังแรกในเมืองไทย ส่วนงานพิเศษนั้น ก็คือ การวิ่งรอกทำงานเป็นครูพิเศษสอนศิลปะตามโรงเรียนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ พระโพธิรักษ์ได้เล่าสรุปช่วงชีวิตในสมัยนั้นไว้ว่า




"ตอนนั้นขอให้มีทางหาเงินได้เป็นเอาทั้งนั้น... จนเดี๋ยวนี้อาตมาระลึกย้อนไปถึงเวลานั้นแล้ว ไม่รู้ว่าพ่อหนุ่ม รัก รักพงษ์คนนี้ ไปเอาเรี่ยวเอาแรงมาจากไหน ทำงานได้อย่างไร ยิ่งกว่าจักรผัน"(7)




ในเรื่องของโภคทรัพย์ และโลกียสุขนี้ พระโพธิรักษ์ได้กล่าวไว้ว่า ตนเองก็ไม่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่เท่าใดนักที่




"อยากมีบ้านใหญ่ ๆ .... เห่อบ้านไปตามประสาของคนไม่เคยมี คนมาจากมือเปล่า ๆ ไม่มีอะไร สะสมสร้างฐานะไป"(8)


และโดยพื้นฐานที่เป็นคนรักบ้าน ชอบแต่งบ้าน "มีบ้านแล้วหลังหนึ่ง คือ บ้านร่ม ก็ยังคิดจะสร้าง เรือนรัก อีก ให้เป็นเรื่อนแบบไทย มีสระน้ำต่อเหลือมออกมาจากตัวบ้าน ...หนักเข้า ก็รู้ว่า ก็เท่านั้นเอง เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเปล่า ๆ ...จนตอนหลัง รู้แล้วเลิก บ้านที่ปัดกว่าดให้สะอาดเท่านั้นก็พอแล้ว"(9)




แน่นอนว่า ชีวิตการทำมาหากินขวนขวายสร้างตัวของพระโพธิรักษ์ดังกล่าวมานี้ เป้นผลจากอิทธิพลของค่านิยมที่มีอยู่โดยทั่วไป ในสังคมไทยยุคปัจจุบันอย่างแจ้งขัด แต่อะไรเล่า ที่ทำให้ในที่สุดแล้ว พระโพธิรักษ์ละทิ้งจากชีวิตดังกล่าว หันมาเป็นผู้นำชาวอโศกอย่างในปัจจุบัน ?




สำหรับชีวิตส่วนตัวของพระโพธิรักษ์ ได้มีผู้ตั้งข้อสังเกตุสงสัยไปต่าง ๆ นานา เช่นพระอนันต์ ชยานันโท สรุปไว้ในหนังสือ โพธิรักษ์ สาสดามหาภัย ของตนด้วยคำว่า




"โพธิรักษ์ต้องประสบความผิดหวังในชีวิตรัก ถูกคู่หมั้นผละหนีไป เพราะไม่สามารถทนหวังชีวิตสมรสในอนาคตได้ เพราะพระโพธิรักษ์ไม่สามารถสะสมทรัพย์สินให้พอเพียงแก่ความมั่นคง จนเป็นที่อุ่นใจในชีวิตครอบครัวได้ และเพราะโพธิรักษ์ตัดสินใจไม่แน่นอน ลังเลสองฝักสองฝ่าย คือทางธรรม และทางโลกย์"(๑๐)




และอีกตอนหนึ่ง ที่สำคัญไม่แพ้กันคือว่า "นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โพธิรักษ์ตัดสินใจเข้าสู่กระแสธรรม ประกอบกับเกิดเบื่อหน่ายในการทำมาหากิน และเห็นว่าหนทางแห่งความสะดวกสบาย และความมีชื่อเสียง อาจหาได้จากชีวิตที่เป็นสมณะ"




มีข้อน่าสังเกตว่า การโจมตีประการหลังนี้ เป็นคำกล่าวโจมตีจากเหตุผลแห่งการเข้าเป็นนักบวช ที่คนไทยเราอาจยอมรับว่าจริงได้โดยไม่ยากนัก


แต่เป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับถ้อยคำที่พระโพธิรักษ์เอง เล่าไว้ว่า




ชีวิตในช่วงนั้น มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านวัตถุอย่างเต็มที่ แต่ตนกลับเริ่มมีความสนใจในเรื่องจิต ทั้งได้ผ่านเข้าไปในแวดวง"เดรัจฉานวิชา"อยู่ระยะหนึ่งด้วย ก่อนที่จะได้มาปฏิบัติธรรมตามแนวพุทธศาสนา


สำหรับเรื่องชีวิตคู่ผู้หญิงผู้ชายนั้น พระโพธิรักษ์กล่าวว่า ตนมีทัศนคติค่อย ๆ แปรเปลี่ยนไปสู่การเห็นดีเห็นงามกับชีวิตโสด คือแรก ๆ ก็คิดจะแต่งงานมีครอบครัว มีลูกมีเต้าเหมือนชาวโลกที่เขาเป็นกันอยู่ ถึงขนาดเคยคิดไว้แม้ในรายละเอียดด้วยว่า เจ้าสาวของตนจะต้องไม่แต่งหน้า เสื้อผ้าก็ไม่ต้องให้ผิดไปจากธรรมดา แต่เมื่อนึกย้อนถึงความยุ่งยากที่ได้รับจากการเลี้ยงน้อง ๆ ก็เลยคิดว่า แต่งงานแล้วจะไม่มีลูก




ครั้นเมื่อได้ปฏิบัติธรรมไปมากเข้า ก็เลยเปลี่ยนใจถึงกับไม่คิดจะแต่งงานเอาเลย โดยได้เล่าถึงฉากการตัดสินใจในเรื่องนี้เอาไว้ว่า




"ทางด้านแฟนก็บอกให้เขาลดละ เราก็บอกว่ามันดีนะ เขาก็เถียงไม่ออก ก็ถามเขาว่า พี่ไปเลวอะไร? เขาก็ว่า ไม่เลวหรอกดีทุกอย่าง เขาก็รู้ว่าดี แต่จิตใจเขายังตัดไม่ได้ ก็ร้องไห้ไป ร้องก็ร้อง ก็พยายามเลิกปลดปล่อยมา จนกระทั่งหลุดเรื่องผู้หญิงผู้ชาย เรื่องรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส"(๑๑)




มีข้อน่าสังเกตว่า สำหรับพระโพธิรักษ์แล้ว การยอมจำนนจนเถียงไม่ออกในประเด็นนี้ ในแง่หนึ่ง ก็เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความดีที่สูงกว่าชีวิตทางโลกย์ เป็นสิ่งที่ประจักษ์แก่ใจคนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชน ซึ่งเมื่อสามารถจะรุกถามเอาได้แล้ว ก็เท่ากับว่า ได้ผ่านพ้นอุปสรรคขัดข้องประการสำคัญไปได้




กลวิธีทำนองนี้ จึงเป็นสิ่งที่พระโพธิรักษ์ใช้ได้ผลมาตลอด เมื่อต้องประสบกับคำทักท้วงในการปฏิบัติธรรมของตน เพราะผู้ท้วงติงไม่อาจบอกได้ว่า การกระทำดังกล่าว ไม่ดีตรงไหน




จากคำบอกเล่าของพระโพธิรักษ์เองนั้น เหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องเบนวิถีชีวิตเข้าสู่ทางธรรมนั้น ไม่ใช่เรื่องความผิดหวังในชีวิตทางโลก หรือความผิดหวังในเรื่องความรักเลยแม้แต่น้อย พระโพธิรักษ์กล่าวยืนยันว่า




"อาตมาพร้อมที่จะอยู่กับโลกได้อย่างไม่มีแผลไม่มีไข้ แต่ที่อาตมาทิ้งโลกอย่างไม่แยแสนั้น เพราะอาตมาได้สมบัติที่ดีกว่าจริง ๆ ซึ่งคนอื่น ๆ ถ้าเขาได้ เขามี เขาเป็น เช่นอาตมา เขาก็คงจะทำอย่างอาตมาทำเช่นกัน"(๑๒)




คำยืนยันเช่นว่านี้ เป็นการสะท้อนหลักการสำคัญอันหนึ่ง ในพุทธศาสนา และที่อยู่ในทางสากลว่า มนุษย์เราล้วนทำตามที่ตนคิดว่าดี แต่ที่ยังไม่ทำในสิ่งที่ดีกว่าที่กระทำอยู่ ก็เพราะยังมีความโง่เขลาหรืออวิชชา ไม่รู้จักความดีที่ดีกว่านั้นครอบงำอยู่




อย่างไรก็ตาม สื่อสำคัญที่ชักนำพระโพธิรักษ์มาสู่การปฏิบัติธรรม ตามแนวของพุทธศาสนาในที่สุดนั้น เป็นความสนใจใคร่รู้ในเรื่องจิต โดยในระยะแรกเริ่ม พระโพธิรักษ์สนใจเรื่องจิตในแง่ของวิทยาศาสตร์มาก่อน มีอาทิ การสะกดจิต การระลึกชาติ การใช้ความเก่งพิเศษของจิต(tetepathy) แต่แล้วเรื่องจิตในแง่วิทยาศาสตร์ ก็ไม่อาจให้คำตอบที่ต้องการได้




จึงหันไปสนใจเรื่องของจิตในเชิงไสยศาสตร์ มีอาทิ การเข้าทรง เรื่องอยู่ยงคงกระพัน รดน้ำมนต์ ตั้งศาล รักษาโรค เรื่องผีสาง เทวดา พระอินทร์ พระพรหม สารพัดวิญญาณ และอำนาจทางจิต(clairvoyant) พระโพธิรักษ์ประสบผลสำเร็จในด้านไสยศาสตร์พอสมควร จนได้รับความเคารพนับถือในวงการว่า เป็นอาจารย์ใหญ่ทางไสยศาสตร์ผู้หนึ่ง




แต่ก็ยังไม่รู้อะไรชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องจิตอยู่ดี รู้แต่ว่า จิตนั้นมีความมหัศจรรย์ ในท้ายที่สุด จึงเลิกจากเดรัจฉานวิชา โดยอาศัยสิ่งที่พระโพธิรักษ์เองเรียกว่า "บารมีเดิม" ซึ่งพระโพธิรักษ์ใช้เป็นคำอธิบายถึงสาเหตุของความสามารถ อันค่อนข้างโดดเด่นของตน ในภายหลัง ๆ ด้วย




อย่างอาตมานี่ อาตมามีบารมีเดิม ไปเล่นอะไรต่ออะไรมาในชาตินี้ อาตมาไม่ติดเลย ไม่ติดจริง ๆ อาตมาทิ้งมันมาดื้อ ๆ เพื่อน ๆ เขาก็เสียดายกัน เพราะอาตมาเล่นทางโน้นอาตมาก็เก่ง อาตมาเล่นทางไสยศาสตร์ ทางเดรัจฉานวิชา เก่งไว แต่ว่าอาตมาไม่ติด เล่นแล้วก็สุดท้ายหนัก ๆ เข้ามันเมื่อย เห็นแต่ว่า อย่างเก่งก็ได้รับคำชมเชยยกย่องเชิดชู ก็เลิกมา(๑๓)




ในเมื่อความปรารถนาอย่างเร่าร้อน ยังไม่พบกับสิ่งที่สามารถตอบสนองได้ ก็ได้เที่ยวไปลองแสวงหาตามสำนักปฏิบัตธรรมต่าง ๆ อยู่ระยะหนึ่ง แต่สิ่งที่สำนักเหล่านั้นมีให้ได้ ก็หาใช่สิ่งพึงประสงค์ไม่ ในที่สุดก็เลยหันมาศึกษาแนวทางเข้าสู่แก่พุทธธรรมด้วยตนเอง(๑๔)




โดยเริ่มต้นที่การจับเค้าได้ว่า พุทธศาสนาสอนให้ทำจิตที่เปื้อน ให้เปื้อนน้อยลง และเพื่อที่จะทำให้จิตสะอาดบริสุทธิ์ ต้องหยุดเรื่องเหลวไหลเพื่อตัดกิเลสตัวทำให้จิตสกปรก พระโพธิรักษ์กล่าวว่า การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าจะให้ได้ผลจะต้องเอาจริง




จึงได้ลงมือเลิกอบายมุขทั้งหลายทั้งปวง วิรัติตนเองในเรื่องต่าง ๆ เพิ่มศีลให้แก่ตนเอง เพิ่มการลดละในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสต่าง ๆ ลดมื้ออาหาร ลดการแต่งตัว คือทำตัวราวกับนักบวชทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นก็ยังคงทำงานในวงการธุรกิจบันเทิงอยู่




เช่นในเรื่องอาหารการกินนั้น ก็กินผสม แล้วต่อมาภายหลังก็ลดเนื้อสัตว์ กินกับข้าวง่าย ๆ อาหารธรรมชาติ ไม่ต้องปรุงแต่งมีงาคั่วบด ถั่วลิสงคั่วตำ ผักสด ผลไม้ ส่วนในเรื่องที่อญุ๋อาศัยก็ง่าย ๆ นอนตะแคงขวาบนพื้นกระดาน เข้านอนอแต่หัวค่ำ ตื่นแต่เช้า




หลังจากที่ได้ปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจังอยู่ไม่นาน ก็ได้ยื่นใบลาออกจากงานประจำที่บริษัทไทยโทรทัศน์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2513 เมื่อมีอายุราว ๓๖ ปี ในขณะนั้น งานพิเศษด้านธุรกิจบันเทิง คือ ภาพยนตร์เรื่อง โทน อันเป็นผลงานชิ้นสุดท้าย ที่พระโพธิรักษ์อยู่เบื้องหลัง ในฐานะผู้ให้เพลงประกอบกำลังประสบความสำเร็จงดงาม อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในวงการภาพยนตร์ไทย




เมื่อได้ตัดสินใจอำลาจากโลกอย่างเด็ดขาดแล้ว พระโพธิรักษ์ก็คิดเลือกหาสถานที่ทำเลที่เหมาะสำหรับอยู่อาศัย อันดูจะเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของชีวิตการปฏิบัติธรรม ที่จะให้ได้ผลสำเร็ยโดยในตอนแรก ได้ตั้งใจจะหาซื้อที่ที่จะต้องมีต้นไม้มาก ๆ สักประมาณ ๒ ไร่ การปลูกสร้างกระต๊อบอยู่กลางหมู่ไม้นั้น และมีเงื่อนไขที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ สถานที่นั้นจะต้องห่างจากวัดสัก ๑-๒ กิโลเมตร




ในท้ายที่สุด พระโพธิรักษ์ก็ไปชอบใจป่าแสม ซึ่งเป็นป่าที่จะไม่มีคนมากวน อยู่ในวัดอโศการาม ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ แต่ก็ยังไม่วายหนักใจว่า พระที่วัดจะมากวนใจให้ต้องทำบุญทำทาน




อย่างไรก็ตาม เมื่อได้พูดตกลงกันเป็นมั่นเป็นเหมาะกับท่านเจ้าอาวาสแล้ว พระโพธิรักษ์ก็ได้ลงมือสร้างที่อยู่อาศัยเป็นกุฏิขึ้น ครั้นถึงวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ก็ได้ขนย้ายไปอาศัยอยู่ที่ใหม่นี้ทั้ง ๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จดี




พระโพธิรักษ์กล่าวว่า ในระยะนั้นหนังสือพิมพ์ได้พากันประโคมข่าวว่า


"ดาราทีวี รายได้สองหมื่นออกมุ่งนิพพาน"


เมื่อข่าวนี้รู้ไปถึงหูพวกอภิปรายธรรม ก็เลยพากันมาชักชวนให้พระโพธิรักษ์ไปอภิปรายธรรมสู่กันฟังด้วย โดยเริ่มต้นครั้งแรกที่วัดนรนารถสุทริการาม ขณะนั้น พระโพธิรักษ์ยังเป็นฆราวาสแต่โกนหัวโล้น นุ่งกางเกงขาสั้น ไม่ใส่รองเท้า เดินสงบก้มหน้า ในสายตาคนทั่วไปจึงดูราวกับคนบ้า




ดังนั้นไม่ว่าจะพูดอภิปรายธรรมะดีอย่างไร มีเนื้อหาสาระดีอย่างไร คนฟังก็ไม่สู้จะยอมรับนับถือ ด้วยเหตุที่ผู้ฟังไม่สามารถแยกออก ระหว่าง สมมุติสงฆ์ กับ อริยสงฆ์ สำหรับส่วนตัวพระโพธิรักษ์เองนั้น ถือว่าตนได้เป็นพระตั้งแต่ตอนเป็นฆราวาสนั้นแล้ว บวชหรือไม่บวชก็มีค่าเท่ากัน




แต่เมื่อมานึกว่า พระพุทธเจ้าท่านปฏิบัติอะไรสมสัดสมส่วนที่ตัวเองพูดอะไรไป คนฟังไม่ค่อยเชื่อถือนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความดื้อด้านของตัวเอง ที่ไม่ทำอะไรให้ถูกต้อง ทั้ง ๆ ที่ทางฝ่ายผู้ฟังนั้น ก็มีอุปาทานอยู่พร้อมแล้ว เพียงแต่ตนนุ่งห่มเป็นพระ(สมมุติสงฆ์)เสียอย่างเดียวเท่านั้น ผู้ฟังก็จะยอมรับนับถือ




อีกทั้งในเวลานั้น ตนก็มีความเห็นอันอาจถือได้ว่า เป็นแรงจูงใจสำคัญที่สุดของการเริ่มงานทางศาสนาอยู่แล้ว ว่า พระศาสนากำลังอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมมากแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีการกอบกู้พระศาสนากันอย่างจริงจังเสียที




ในที่สุด จึงได้ตัดสินใจดำเนินการขอบวช ในวันเสาร์ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๓ ขณะเมื่อมีอายุได้ ๓๖ ปี ณ วัดอโศการาม อันเป็นวัดฝ่ายธรรมยุตนั่นเอง โดยมีพระราชวรคุณ เป็นพระอุปัชฌาจารย์ มีพระอาจารย์ทอง จันทศิริ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ปิ่น ตันติธัมโม เป็นอนุสาวนาจารย์ โดยได้รับฉายาว่า "โพธิรักขิโต" อันมีความหมายว่า "ผู้รักษาความตรัสรู้" ฉายานี้ สำหรับชาวอโศกแล้วถือได้ว่า เป็นนิมิตหมายส่อถึงบทบาทสำคัญของตัวพระโพธิรักษ์ในกาลต่อมา ในอันที่จะธำรงรักษาพุทธศาสนาของพระบรมศาสดาที่ได้ทรงตรัสรู้ไว้ ให้ยืนยงตรงความเป็นจริงแต่เดิมต่อไป




เมื่อบวชเป็นพระนุ่งห่มจีวรอย่างสมมุติสงฆ์ บวกกับแบบปฏิบัติที่สำรวมเคร่งครัด พระโพธิรักษ์ก็กลายสภาพจากเดิม ที่ดูราวคนบ้าในสายตาคนทั่วไป มาเป็นพระผู้สงบสำรวมยิ่ง เป็นที่ชื่นชมศรัทธาของผู้พบเห็นและได้ฟังธรรม กลายเป็นพระเด่นพระดัง จนถึงกับมีการนิมนต์ให้ขึ้นเทศน์บนศาลา ทั้ง ๆ ที่มีพรรษาเพียง ๑-๒ พรรษาเท่านั้น ซึ่งผิดปกติธรรมดาของทางวัดอโศการาม ที่ถือกันว่า อาจารย์ที่จะขึ้นเทศน์ได้จะต้องมีพรรษาครบ ๑๐ พรรษาขึ้นไป แต่พวกญาติโยม แม่ชี ก็ยังอุตส่าห์ไปขออนุญาตท่านเจ้าคุณให้พระโพธิรักขิโตขึ้นเทศน์บ่อย ๆ




ในหนังสือ โพธิรักษ์ ศาสดามหาภัย พระอนันต์ ชยานันโท ได้บรรยายลักษณะการเทศน์ของพระโพธิรักษ์ครั้งนั้นไว้ว่า




โพธิรักษ์เกิดรู้สึกปีกกล้าขาแข็งขึ้น เทศน์อบรมญาติโยมภายในวัดพร้อมกับกล่าวเสียดสีแดกดันพระภายในวัดด้วยกันเองว่า ไม่สนใจปฏิบัติธรรม เอาแต่กินกับนอน ไม่ทำประโยชน์ให้กับสังคม เป็นพระไม่ควรอยู่เฉย ๆ ควรจะต้องหางานทำให้คุ้มกับข้าวปลาอาหารที่ญาติโยมมาถวาย ไม่ใช่อยู่รกวัดไปวันหนึ่ง ๆ พร้อมกับกล่าวตำหนิครูอาจารย์ที่ยังสูบบุหรี่กินหมากว่า บวชแล้วละกิเลสหยาบ ๆ ไม่ได้ กิเลสอย่างละเอียดจะละได้อย่างไรกัน การพูดธรรมของโพธิรักษ์ ปรากฏว่า เป็นที่ถูกใจของบรรดาศรัทธาญาติโยมบางกลุ่มบางเหล่า จึงได้รับนิมนต์ให้ไปปาฐกถาธรรมตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น วัดมหาธาตุ วัดนรนารถฯ วัดธาตุทอง วัดอาวุธ ฯลฯ ครั้นได้รับคำสรรเสริญ ชื่นชมมาก โพธิรักษ์เริ่มหลงลืมตัว คิดว่าตนเองนั้นแตกฉานในพระธรรมวินัยอย่างหาพระเทียบได้ยาก อีกทั้งยังได้กล่าวจาบจ้วงพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ไปเจิมป้าย รดน้ำมนต์ ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง บางครั้งถึงกับจาบจ้วงด้วยถ้อยคำหยาบกระด้าง จนผู้ฟังจำนวนมากไม่สามารถทนฟังคำจ้วงจาบเหล่านั้นได้ จึงได้เอาเรื่องราวเหล่านั้นมาแจ้งให้กับพระราชวรคุณ พระอุปัชฌาย์ของโพธิรักษ์ เพื่อจะได้ว่ากล่าวตักเตือน.... ต่อหน้าก็รับว่า จะไม่ประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นอีก แต่ลับหลังก็ยังใช้คำเสียดสีจ้วงจาบเหมือนเดิม ครั้นถูกเรียกมาว่ากล่าวตักเตือนบ่อย ๆ จนโพธิรักษ์ไม่สามารถอดทนต่อคำว่ากล่าวเหล่านั้นได้ จึงได้แยกตัว ไปตั้งสำนักใหม่ที่จังหวัดนครปฐม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖(๑๕)


นอกจากนั้นพระอนันต์ ชยานันโทยังสรุปว่า พระโพธิรักษ์ได้ทำให้นักบวชวัดอโศการาม โดยเฉพาะ หมู่แม่ชีแตกเป็น ๒ กลุ่ม




"กลุ่มโพธิรักษ์ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ก็แสดงตนในทีข่มอีกพวกหนึ่งว่า พวกของตนนั้นปฏิบัติธรรมได้สูงกว่า ดีกว่า บริสุทธิ์กว่า สะอาดกว่า โดยกล่าวหากลุ่มที่ฉันเนื้อสัตว์ว่า เป็นนักบวชที่หลอกลวงประชาชน ปากว่าถือศีล ไม่ฆ่าสัตว์ แต่กลับฉันเนื้อสัตว์(๑๖)




อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญแห่งความแตกแยกออกไป เป็นอีกหมู่กลุ่มหนึ่งต่างหาก ซึ่งต่อมาภายหลักเรียกว่า ชาวอโศก นั้น ตามคำของพระโพธิรักษ์เองแล้ว ได้แก่เรื่องการขึ้นศาลาสวดมนต์ซึ่งพระโพธิรักษ์ไม่ค่อยขึ้นสวดนัก ถึงขึ้นก็ขึ้นไปนั่งสงบ นั่งพนมมืออะไรที่พอสวดได้ท่านก็สวด ลักษณะท่าทีไม่ยอมผ่อนปรนในเรื่องการสวดมนต์ อย่างที่ทราบกันอยู่ทั่วไปนั้น ได้เป็นสิ่งที่ชาวอโศกยึดถือมาจนทุกวันนี้(๑๗)




และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือ มีพระมหานิกายมาคบหาสมาคมกับท่านด้วย ซึ่งเรื่องนี้อุปัชฌาย์ถือเป็นเหตุขัดข้อง ที่จะอนุญาตให้พระโพธิรักษ์และพวกพากันไปฝึกหัดอบรมบำเพ็ญธรรมกัน ที่แดนอโศก หมู่ที่ ๑๐ บ้านรางหว้า ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๖ บนเนื้อที่ประมาณ ๔ ไร่ (ภายหลังได้ยกเลิกไป เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๒)




การไปในครั้งนั้น โดยพฤตินัยแล้ว อาจถือได้ว่าเป็นการแยกกลุ่มนักบวชออกเป็นเอกเทศครั้งแรก ซึ่งในครั้งนั้นเหตุผลของการขออนุญาตแยกไปฝึกหัดอบรมบำเพ็ญธรรมของหมู่กลุ่มของพระโพธิรักษ์นั้น ก็โดยมีความมุ่งหมายเพื่อไม่ให้เกิดสภาพวัดซ้อนวัดอย่างที่เคยเป็นมาแล้วที่วัดอโศการาม




เพราะโดยส่วนตัวพระโพธิรักษ์นั้น ยืนยันว่า ไม่เคยถือสาเรื่องนิกายเลย มีแต่พยายามมุ่งที่จะเข้าหาธรรมเท่านั้น




ต่อมาในภายหลัง พระโพธิรักษ์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "อาตมาจะประกาศสัจธรรมความไม่ใช่นิกาย ความต้องไม่แตกสัมมาทิฐิกันให้ชัดแจ้งให้ได้ อาตมาจะแก้กลับแค่ธรรมยุตกับมหานิกายยังเรื่องเล็กไป อาตมาจะทำให้เห็นให้แจ้งถึงเถรวาทและมหายานมาโน่นทีเดียว ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวเท่านั้น แล้วนึกกันให้ถูกต้อง ทำให้ถูกธรรม ถ้าธรรมยังสังฆเภทอยู่อย่างนี้ ศาสนาพุทธไม่งอกเงย ไม่ฟื้นเด็ดขาด"(๑๘)




อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ฝ่ายอุปัชฌาย์ถึงกับขอเรียกคืนใบสุทธิ พระโพธิรักษ์และคณะ จึงได้ไปสู่วัดหนองกระทุ่ม ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นวัดทางมหานิกายและตัวพระโพธิรักษ์เองได้เข้าอุปสมบทเป็นพระมหานิกาย เมื่ออายุ ๔๐ ปี ในวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๖ โดยมี พระครูสถิตวุฒิคุณเป็นพระอุปัชฌาย์








แล้วต่อมาภายหลัง จึงได้นำใบสุทธิเก่าฝ่ายธรรมยุตไปคืนแก่ พระราชวรคุณ ณ วัดอโศการาม เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๖ โดยพระราชวรคุณได้เขียนบันทึกการพ้นจากสังกัดวัดลงวันที่เดียวกันนั้นว่า "พระรัก โพธิรักขิโต ได้ลาสิกขาไปจากวัดอโศการามแต่วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๑๖ โดยไปรับการอุปสมบทฝ่ายมหานิกาย" ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้บอกลาสิกขา หรือ ทำพิธีลาสิกขาใด ๆ เลยสักครั้ง






ในเรื่องนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า บรรยากาศความขัดแย้งกันของพระภิกษุไทย ในเรื่องสังกัดต่างนิกายกัน โดยแต่ละฝ่ายเดียดฉันท์กันว่า เป็นมหานิกายบ้าง เป็นธรรมยุติกนิกายบ้างนี้ เป็นบรรยากาศที่มีสืบทอดกันมาช้านานแต่โบราณ ครั้งเมื่อมีการก่อตั้งธรรมยุติกนิกายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี ความระหองระแหงกันระหว่างสงฆ์สองฝ่ายนั้นแต่แรกเป็นไปในทำนองที่ว่า พระธรรมยุติกนิกายมีวัตรปฏิบัติดีกว่า เคร่งครัดกว่าพระมหานิกาย ซึ่งหละหลวมหย่อนยาน และรวมถึงเหตุผลในเรื่องอำนาจปกครองสงฆ์ส่วนรวม เมื่อครั้งธรรมยุติกนิกายเฟื่องฟู จนถูกกล่าวหาว่าเป็นพระของพระราชวงศ์ แม้ว่าเหตุผลเหล่านี้ จะได้หมดหรือเปลี่ยนไปแล้ว ตามกาลสมัย แต่ผลที่ก่อให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์กัน จนกระทั่งไม่ยอมร่วมสังฆกรรมกันระหว่างพระต่างนิกายนั้น ยังคงมีอยู่สืบต่อกันมา ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็คงจะด้วยลักษณะภายนอกที่ตกทอดกันมา คือการห่มผ้าที่แตกต่างกัน ในเรื่องความหละหลวมในทางธรรมวินัย หรือความเคร่งครัดนั้น ถ้าจะว่าไป ก็หาได้ผิดแผกกันไม่ เพราะปรากฏว่า พระธรรมยุตที่เหลวไหลก็มี พระมหานิกายที่ดีก็มาก




กรณีความขัดแย้งที่เกียวพันในเรื่องนิกายของพระโพธิรักษ์ จึงอาจถือได้ว่า เป็นเพียงผลปลายเหตุเท่านั้น ตัวความขัดแย้งที่แท้จริงอยู่ที่ความเชื่อ และแบบปฏิบัติของพระโพธิรักษ์จึงอาจถือได้ว่า เป็นเพียงผลปลายเหตุเท่านั้น ตัวความขัดแย้งที่แท้จริงอยู่ที่ความเชื่อ และแบบบปฏิบัติของพระโพธิรักษ์และพวก ซึ่ง"ล้ำหน้า"กว่าที่ชุมชนสงฆ์ไทยแบบเดิม จะสามารถยอมรับได้มากกว่าอย่างอื่น








ด้วยเหตุนี้เอง แม้จะเข้ามาบวชเป็นพระในมหานิกาย แต่ในท้ายที่สุด พระโพธิรักษ์ก็ยังต้องประสบกับปัญหาแบบเดิมกับที่เคยประสบมาแล้ว ในสมัยที่เป็นพระอยู่ในธรรมยุติกนิกายอยู่ดี








ดังปรากฏว่า เมื่อพระโพธิรักษ์กับหมู่กลุ่มชาวอโศกได้พำนักและปฏิบัติงานทางศานาอยู่ที่แดนอโศกนั้น ได้มีเหตุต่าง ๆ เกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน








เช่น ถูกพระผู้ปกครองตั้งข้อรังเกียจว่า แดนอโศกนั้นมิได้ขออนุญาตจัดตั้งขึ้นตามระเบียบ พระนักบวชชาวอโศกไม่อยู่ในพรรษา ไปโน่นไปนี่บ้าง ข้างพระนวกะที่พระโพธิรักษ์สั่งสอนอบรมแล้ว ก็ไม่ได้รับให้เข้าสอบนักธรรมตรี โท เอก หรือจะให้พระอุปัชฌาย์ พระครูสถิตวุฒิคุณบวชให้ ก็ขัดข้อง








จนครั้งหนึ่ง เมื่อได้อธิษฐานพรรษากันที่แดนอโศกเรียบร้อยแล้ว พระชาวอโศกก็ยังได้รับหนังสือสั่งให้เข้าไปอธิษฐานพรรษากันใหม่ในวัดหนองกระทุ่ม เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๘ สั่งให้เปลี่ยนสีจีวรเป็นสีเหลือง สั่งให้รื้อถอนกุฏิที่แดนอโศก ถ้าไม่รื้อจะปลดอุปัชฌาย์ เพราะถือว่าไม่สามารถควบคุมดูแลศิษย์ได้ ซึ่งในเรื่องนี้ได้มีบันทึกความคิดเห็นของพระชาวอโศกท่านหนึ่งไว้ว่า








การที่เขามีคำสั่งจะปลดอุปัชฌาย์ของพวกอาตมา ก็เพราะเขาต้องการให้ชาวบ้านแถวนั้นขับแห่คณะอาตมา ซึ่งก็มีหวังโดนขับแน่ ๆ เหมือนกันถ้าอุปัชฌาย์โดนปลด เพราะชาวบ้านแถวนี้เขามีอคติต่อคณะอาตมาอยู่แล้ว ที่แดนอโศกไม่มีพระพุทธรูป ไม่สวดมนต์ ไม่ใช้ดอกไม้ ธูป เทียน เขาก็ว่าอาจารย์ของอาตมา (ซึ่งหมายถึงพระโพธิรักษ์) กำลังจะตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าเอง(๑๙)




เมื่อเรื่องลุกลามรุนแรง จนกระทบกระเทือนถึงอุปัชฌาย์ พระครูสถิตวุฒิคุณ ซึ่งมีสุขภาพไม่สู้จะดีนัก เกิดเป็นสถานการณ์ให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ถ้าอุปัชฌาย์มีอันเป็นอะไรไป ก็ต้องถือว่า หมู่กลุ่มชาวอโศกเป็นต้นเหตุ ชาวอโศกจึงได้ปรึกษาหารือตกลงกันและเห็นว่า




"ถ้าเรายังคงยอมตามไปอยู่เช่นนี้เรื่อย ๆ เขาก็ย่อมเข้ามาบีบยังคับเราอยู่อย่างไม่มีวันสิ้นสุด การเผยแพร่สัจธรรมของเราก็ยากที่จะเผยแพร่ออกไปได้ เขาก็ต้องหาเรื่องมาขัดขวางอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมันเป็นการขัดผลประโยชน์ อันได้แก่ลาภสักการะที่พระผู้ใหญ่ได้พากันเสพย์ ได้พากันแสวงหาอยู่ทุกวันนี้" (๒๐)




ในที่สุดชาวอโศกจึงคิดหาทางตัดความรับผิดชอบออกไปจากอุปัชฌาย์ โดยการประกาศตนเป็นเอกเทศ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของทางฝ่ายคณะปกครองสงฆ์ เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๘ เวลา ๑๓.๐๐ น. ต่อหน้าเจ้าคณะอำเภอ พระสังฆาธิการ และพระที่มาประชุมรวมกันอีกประมาณ ๑๘๐ รูป ดังความที่อ้างไว้ตอนหนึ่งใน "แถลงการณ์ฯ" ตามแนวพุทธภาษิต ว่า




เสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะนั้น ผู้มีทรัพย์ก็จะทำ เสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ทุกคนก็จะทำ เพราะเป็นทางถูกต้อง "เสียชีวิตเพื่อรักษาธรรม" เราก็จะต้องทำ เพราะไม่มีอะไรจะเหนือกว่า"ธรรม" แม้ชีวิตเลือดเนื้อมันก็เป็นเพียงความประชุมของธาตุ ที่ควรจะก่อประโยชน์อันสูงและดีงามเท่านั้น เมื่อมันจะรักษาธรรมป้องกันธรรมให้คงอยู่และเจริญไป มันก็คุ้มค่าและควรแลกที่สุด(๒๑)




ภายหลังจากที่ได้ประกาศปกครองตนเอง โดยอาศัยพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว นักบวชชาวอโศกก็ดำรงรูปลักษณ์ภายนอกของตนเอง อันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากพระอื่น ๆ โดยการไม่โกนคิ้ว ใช้จีวรสีคล้ำ(๒๒) ไม่สวมรองเท้า ไม่ใช้ย่าม ร่ม ดังความอุปมาของพระชาวอโศกเองท่านหนึ่งที่ว่า




เหมือนเพชรอยู่ในกองทราย ก็จำเป็นที่จะต้องเอาแยกออกมาจากกองทราย เพื่อให้เห็นเด่นชัด มิเช่นนั้นแล้วกองทรายก็ย่อมกลืนทับถมหมด เพชรก็ไม่สามารถจะส่องแสงได้ ธรรมะก็เหมือนกัน ถ้าขืนอยู่ด้วยกันนาน ๆ เข้า อธรรมก็ย่อมกลืนธรรมะสาบสูญหายไปหมด เพราะอธรรมนั้นมีมากมายเหลือเกิน เปรียบเสมือนกับกองทราย ย่อมกลบทับถมเพชรให้หายสาบสูญไปฉันนั้น(๒๓)




แม้ว่าทางฝ่ายชาวอโศก จะได้พยายามยกเอาพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า มาเป็นหลักฐานในการยืนยันความถูกต้องของการประพฤติปฏิบัติ ในเรื่องต่าง ๆ ของฝ่ายตนมาตลอด โดยถือเอาความถูกต้องตามธรรมตามวินัยเป็นสิ่งสูงสุดเหนืออื่นใด แต่ถึงกระนั้น คลื่นลมก็หาได้สงบลงสำหรับนาวาอโศกไม่




ฝ่ายที่ต่อต้านพระโพธิรักษ์กับหมู่กลุ่ม ก็ยังมีอยู่อีกมาก โดยเฉพาะตัว พ.ต.ท.อนันต์ เสนาขันธ์ ซึ่งเมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุได้ประสบความสำเร็จ ในการทำลายล้าง โค่นล้มอาณาจักหุบผาสวรรค์ ซึ่งมีนายสุชาติ โกศลกิตติวงศ์ เป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญ จนกระทั่งอาณาจักรหุบผาสวรรค์ถูกทางราชการสั่งระงับดำเนินการมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ความสำเร็จในกรณีหุบผาสวรรค์ของพระอนันต์นี้ ได้รับความชื่นชมจากสาธารณชนเป็นอย่างมาก จนหลังจากนั้นไม่นาน ภิกษุชยานันโท(พระอนันต์ เสนาขันธ์) ก็กลายเป็นพระภิกษุที่มีบทบาทโด่งดังในฐานะพระตำรวจ ที่คอยตรวจตราความไม่ชอบมาพากลในทางฝ่ายศาสนาไป




เป้าการโจมตีอันดับต่อจากอาณาจักรหุบผาสวรรค์ จึงหันมายังพุทธสถานสันติอโศกของบรรดาชาวอโศก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพยายามหาจุดบกพร่องส่วนตัวของพระโพธิรักษ์เอง




ข้อโจมตีบรรดาที่มุ่งเป้าไปที่ตัวพระโพธิรักษ์เอง มีรวบรวมอยู่ในหนังสือ "โพธิรักษ์ ศาสดามหาภัย" ของพระอนันต์ ชยานันโท และคณะ อันเป็นสิ่งพิมพ์ที่มีเจตนาโดยตรง ที่จะคว่ำบาตรพระโพธิรักษ์อย่างเอาเป็นเอาตาย และอย่างเร่งรีบ




ข้อกล่าวหาต่อพระโพธิรักษ์นั้น มีตั้งแต่ที่ว่า พระโพธิรักษ์ไม่ใช่พระ เพราะไม่มีใบสุทธิ เป็นบุคคลที่มีความผิดฐานแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ไทย หรือถ้าเป็นพระก็เป็นพระเถื่อน เพราะไม่สังกัดเถรสมาคม หมู่กลุ่มของพระโพธิรักษ์ก็เป็นสงฆ์เถื่อน เพราะไม่สังกัดเถรสมาคม หมู่กลุ่มของพระโพธิรักษ์ก็เป็นสงฆ์เถื่อนสำนักเถื่อน เพราะพระโพธิรักษ์เป็นอุปัชฌาเถื่อน ขาดองค์คุณ ๖ ประการ เป็นพระอวดอุตริมนุษยธรรม(๒๔) เป็นศิษย์พระเทวทัต เพราะฉันแต่อาหารมังสวิัรัติ ทำสังฆเภท ทำสัทธรรมปฏิรูป เป็นศาสดามหาภัย



มีข้อน่าสังเกตว่า บรรดาคำโจมตีของ พระอนันต์ ชยานันโท และคณะ ที่มีต่อตัว พระโพธิรักษ์ ที่เริ่มต้นจากประเด็นการตรวจสอบสภาพความเป็นพระภิกษุของพระโพธิรักษ์ว่า โดยขนบธรรมเนียมประเพณีของสงฆ์ พระโพธิรักษ์เป็นพระภิกษุที่ถูกต้องหรือไม่


เช่น การถือว่า พระโพธิรักษ์ไม่ใช่พระ เพราะไม่มีใบสุทธิ และเมื่อไม่ใช่พระ แต่มาแต่งกายเหมือนพระ ก็เข้าข่ายความผิดตามกฏหมายบ้านเมือง ที่ห้ามการแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ไทย แม้กระทั่งที่หาว่า เป็นพระเถื่อน สำนักเถื่อน หรือแม้แต่เป็นอุปัชฌาย์เถื่อน ซึ่งอาจอนุโลมรวมเป็นข้อโจมตี เพื่อกีดกันไม่ยอมรับพระโพธิรักษ์ว่าเป็นพระภิกษุนั้น ล้วนเป็นเรื่องของกฏเกณฑ์ที่มีอยู่ในสังคม นั่นคือ ด้านพระอนันต์พิจารณาการกระทำของพระโพธิรักษ์จากแง่ของเจตนารมณ์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ




แต่คำชี้แจงของ พระโพธิรักษ์ กลับอิงเหตุผล ที่ย้อนพาดพิงไปถึงเมื่อครั้งพุทธกาล ก่อนที่พุทธศาสนาจะเข้ามาอยู่ในกรอบขอบเขตของสังคมไทย หรือสังคมใดสังคมหนึ่งโดยเฉพาะ คือเป็นเหตุผลที่กว้างกว่า ทั้งในแง่กาละและเทศะ


โดยพระโพธิรักษ์อ้างว่า ความสำคัญของใบสุทธิต่อสภาพความเป็นภิกษุ เป็นเรื่องที่มากำหนดกันในภายหลัง และโดยเฉพาะในสังคมไทย โดยเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรทางฝ่ายศาสนจักรที่ตั้งขึ้นโดยฝ่ายอาณาจักร์ เพื่อผลในการบริหารและปกครองคณะสงฆ์เท่านั้น พระโพธิรักษ์ถือตัวว่า ตนเป็นพระภิกษุในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าเสมอมา ดังที่ปรากฏใน สัจจะแห่งชีวิตของพระโพธิรักษ์ ตอนหนึ่งว่า


เรื่องการมีใบสุทธิ คืนใบสุทธิ เป็นเรื่องของกฏที่ตั้งขึ้นโดยเถรสมาคม ไม่ใช่เรื่องของธรรมวินัย ถ้าแม้นการคืนใบสุทธิตามกฏของเถรสมาคม จะถือเอาว่าเป็นการสึก อย่างนั้นก็สึกแต่เพียงธรรมยุต และเป็นการสึกเพราะถือเอาจากการคืนใบสุทธิตามกฏเถรสมาคมด้วยนะ ไม่ใช่ตามธรรมวินัย ถ้าตามธรรมวินัยอาตมาก็ยังคงเป็นพระธรรมยุตอยู่นั่นเอง ส่วนมหานิกายไม่เคยสึกเลย เพราะอาตมาคืนใบสุทธิในมหานิกายเมื่อลากออกจากเถรสมาคมแล้ว ก็หมดสภาพของกฏที่เถรสมาคมควบคุมกันแล้วนี่ อาตมาลาออกจากเถรสมาคมมาก่อนแล้วค่อยคืนใบสุทธิทีหลัง เมื่ออาตมาลาออกจากเถรสมาคม มาอยู่ในธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไม่เกี่ยวกับใบสุทธิ เพราะฉะนั้น การคืนใบสุทธิตอนนั้นจึงมิได้ผิดอะไร อาตมาไม่ได้หมดความเป็นพระตรงไหนเลย และเวลาคืนใบสุทธิก็ไม่ได้เคยบอกอุปัชฌาย์ว่าสึกนะ ไม่ได้พูดเลย และก็ไม่ได้มีเจตนาสึก แล้วอุปัชฌาย์ก็รู้ว่าอาตมาไม่สึก(๒๕)


อย่างไรก็ตาม จะสังเกตได้ว่า พระโพธิรักษ์เองก็ยอมรับความจำเป็น ในการที่สังคมสงฆ์จะต้องมีมาตรการในการควบคุมดูแลกันอยู่บ้าง อย่างน้อยที่สุด ด้วยการดูกันที่ใบสุทธิ ดังคำพูดที่ว่า เมื่อลาออกจากเถรสมาคมก่อนที่จะคืนใบสุทธินั้น ความเป็นพระภิกษุตามธรรมวินัยยังคงมีอยู่ไม่ขาดตอนแต่อย่างใด


เรื่องใบสุทธิกับความเป็นพระนี้ เป็นขนบธรรมเนียมที่ในภายหลังก็ได้ไปปรากฏอย่างแจ่มชัดในกฏระเบียบของชาวอโศก ว่าด้วยเหตุผลในการควบคุมปกครองภิกษุสงฆ์กันเอง ว่า นักบวชชาวอโศกทุกรูปจะต้องมีใบสุทธิพร้อมให้ดูได้เสมอ แต่ใบสุทธิของชาวอโศกมีลักษณะพิเศษเพิ่มเติมคือ จะต้องมีการต่ออายุกันทุกปีอย่างเคร่งครัด(๒๖)


ส่วนจ้อกล่าวหาในเรื่องความผิดฐานแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ไทย อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อกฏหมายของบ้านเมือง อันคือกฏหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ นั้น พระโพธิรักษ์และชาวอโศก ไม่มีทางออกอื่นใด นอกจากการไม่ประพฤติฝ่าฝืนอย่างเด็ดขาด


แต่เพื่อไม่ให้ผิดไปจากสมณสารรูปของพระภิกษุ ในพระบวรพุทธศาสนาขององค์ปฐมบรมศาสดา สีจีวรของภิกษุชาวอโศกจึงได้กำหนดให้เป็นสีกรักเข้ม ให้แตกต่างไปจากพระภิกษุโดยทั่วไปที่จีวรมักจะเป็นสีเหลือง


ด้วยเหตุนี้เอง นอกจากชาวอโศกจะอ้างได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า มิได้ลอกเลียนแบบพระสงฆ์ไทยแล้ว ยังสามารถยืนยันได้ด้วยว่า สีกรักเข้มของพวกตนนั้น แท้ที่จริงแล้ว เป็นสีที่ถูกต้องตามกำหนดกฏเกณฑ์เดิมของพระบรมศาสดาเสียอีก


ในทางตรงกันข้าม สีจีวรของพระภิกษุส่วนใหญ่โดยทั่วไปนั้น กลับเป็นสีที่อยู่ในข่ายต้องห้าม ตามธรรมวินัยเดิมแต่ครั้งพุทธกาล(๒๗)

การไว้คิ้วให้แตกต่างจากพระภิกษุโดยทั่วไป ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ชาวอโศกยืนยันได้แน่ชัดว่า ไม่ได้เลียนแบบพระสงฆ์ไทย ยิ่งไปกว่านั้น ยังยืนยันว่า การไว้คิ้วมีอยู่ในหมู่พระภิกษุชนชาติอื่น ๆ อีกมากมาย และในครั้งพุทธกาลก็ไม่ได้มีวินัยให้ภิกษุต้องโกนคิ้วแต่อย่างใด


อนึ่ง ในเรื่องคิ้วนี้ ผู้รู้ที่ใช้นามปากกาว่า "ประสก" แห่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก็ได้แสดงความเห็นให้เหตุผลว่า การที่พระภิกษุชาวไทยโกนคิ้วนั้น ก็เพื่อให้ดูแตกต่างจากนักโทษชายสมัยก่อนที่โกนหัวเหมือนพระภิกษุ


สำหรับคำกล่าวหาว่า เป็นพระเถื่อน หรือสำนักเถื่อน ที่ซ้ำซ้อนหรือสืบเนื่องมาจากข้อโจมตีสภาวะความเป็นพระ ของพระโพธิรักษ์ ที่หมายถึงพระนอกสังกัดสงฆ์ไทย นอกปกครองตามระเบียบแบบแผนของมหาเถรสมาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นความเป็น พระเถื่อนนั้น ก็ได้มีการตอบโต้ด้วยเหตุผลในทำนองเดิมคือ การยืนยันความถูกต้องตามธรรมวินัย เป็นหลักสำคัญ


แต่ประเด็น สำนักเถื่อนนั้น ได้มีการตอบโต้โดยการแยกแยะความแตกต่างของศัพท์แสงที่ใช้เรียก คือระหว่าง พุทธสถาน กับ สำนักสงฆ์ ชาวอโศกยืนยันการเรียกขานสถานที่ของพวกตนว่า เป็นพุทธสถาน อันหมายถึง สถานที่เพื่อความรู้แจ้ง หรือจะยกให้ว่า รู้แจ้งอยู่เสมอ ก็ได้ และก็พร้อมที่จะให้ความรู้ความกระจ่างแก่ทุกคนที่สนใจ ใส่ใจตามความสามารถของเราที่มีจริง ๆ ...เน้นกิจกรรมของพระภิกษุหรือนักบวชที่จะอยู่พำนัก จะมีกิจกรรมเป็นประโยชน์กับผู้คน ก่อพุทธธรรมได้เป็นสำคัญ"(๒๘)


หาได้เป็น สำนักสงฆ์ ในความหมายเฉพาะของกรมการศาสนาแต่ประการใดไม่ "เมื่อไม่ใช่สำนัก จึงไม่มีวันเป็น สำนักเถื่อน ไปได้"


ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องการเป็น อุปัชฌาย์เถื่อน ของ พระโพธิรักษ์ เพราะขาดองค์คุณ ๖ ประการ บวชยัไม่ครบ ๑๐ พรรษา และไม่ได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมนั้น ชาวอโศกมีข้อชี้แจง โดยการยกอ้างหลักฐานสนับสนุนจากพระวินัยปิฎก เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑ มหาขันธกะ ที่ได้กล่าวถึง องค์ ๕ แห่งภิกษุผู้ไม่พึงเป็นพระอุปัชฌาย์ แบะพึงเป็นอุปัชฌาย์ เป็นต้นว่า ศุกลปักษ์ ๑ คือ

  1. เป็นผู้ประกอบด้วยศีล อันเป็นอเสขะ
  2. เป็นผู้ประกอบด้วยสมาธิ อันเป็นอเสขะ
  3. เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญา อันเป็นอเสขะ
  4. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติ อันเป็นอเสขะ
  5. เป็นผู้ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนะ อันเป็นอเสขะ



หรือ ศุกลปักษ์ ๓ คือ


  1. เป็นผู้มีศรัทธา
  2. เป็นผู้มีหิริ
  3. เป็นผู้มีโอตัปปะ
  4. เป็นผู้ปรารภความเพียร
  5. เป็นผู้มีสติตั้งมั่น


หรือ ศุกลปักษ์ ๔ คือ 
  1. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยศีล ในอธิศีล
  2. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยอาจาระ ในอัธยาจาร
  3. เป็นผู้ไม่วิบัติด้วยทิฐิ ในทิฐิยิ่ง
  4. เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก
  5. เป็นผู้มีปัญญา




ซึ่งเพียง คุณสมบัติ ๕ ประการนี้ครบบริบูรณ์ แม้จะมีพรรษาไม่ครบ ๑๐ และไม่ได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคม ชาวอโศกก็ถือว่า พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้เป็นอุปัชฌาย์ได้(๒๙)




ข้อที่เพิ่มเติมมาภายหลังที่ว่า จะต้องมีพรรษาครบ 10 และต้องได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคมนั้น คงจะเนื่องจากองค์คุณ ๕ ประการ ที่พุทธองค์ทรงบัญญัตนั้น เป็นสิ่งที่ยากแก่การสังเกตรู้ชัดได้ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยรัดกุม ในการบวชกุลบุตรในพระบวรพุทธศาสนา จึงได้มีการเพิ่มองค์คุณประการที่ ๖ ซึ่งอย่างน้อยที่สุด ก็สังเกตรู้ได้ชัดว่า มีอยู่ในบุคคลใดหรือไม่




แต่แล้วจุดมุ่งหมายในอันที่จะให้การบวชกุลบุตร เป็นไปอย่างเรียบร้อยรัดกุมนั้น ก็หาได้เป็นไปตามนั้นไม่ เพราะผู้มีองค์คุณประการที่ ๖ อย่างชัดแจ้ง แต่หย่อนในองค์อีก ๕ ประการ และได้กระทำการในฐานะอุปัชฌาย์แล้ว กลับได้พระภิกษุที่ไม่สู้จะดีสมสมณสารรูป ก็เคยมีมา




สำหรับเรื่องข้อกล่าวหาว่าพระโพธิรักษ์ทำสังฆเภทนั้น มีเค้ามูลสืบเนื่องมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังอยู่ที่วัดอโศการาม ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ที่ได้เกิดมีนักบวชแบ่งออกเป็นกลุ่มที่กินเนื้อสัตว์ และกลุ่มของพระโพธิรักษ์ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ นอกจากนั้น การที่ต่อมาภายหลังคณะนักบวชชาวอโศกได้ประการตนลาออกจากเถรสมาคม ก็ยิ่งเป็นประเด็นให้ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ทำสังฆเภท อันเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงมากข้อหนึ่ง ในอนันตริยกรรม ๕




ซึ่งในเรื่องนี้ ชาวอโศกยืนยันตลอดเรื่อยมาว่า พวกตนไม่ได้ทำสังฆเภท ความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน เป็นสิ่งธรรมดาที่เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ และยิ่งเป็นการแตกแยกความคิดเห็น ชนิดที่ช่วยให้เกิดการสร้างสรรค์แล้ว ไม่ควรถือเป็นการทำสังฆเภท




และอันที่จริง การแตกเป็นนิกายต่าง ๆ ที่มีมาช้านานแล้ว จนยอมรับเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เสียหายอะไรนั้น พระโพธิรักษ์กลับเห็นเป็นเรื่องของสังฆเภทเสียอีก




และตัวท่านเองยืนยันว่า ไม่ได้แยกนิกายใหม่แต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับจะพยายามรวบรวม เจตนารมณืในการรวบรวมเข้าเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ พระโพธิรักษ์เองได้ยืนยันไว้ชัดเจนในหนังสือ "สัจจะแห่งชีวิตของพระโพธิรักษ์" ความว่า




อาตมาไม่ได้ทำสังฆเภท (แม้จะขอลาออกมาจากเถรสมาคม) อาตมาจะรวมต่างหาก พยายามอ่านอาตมาให้ออก เห็นให้เป็นเถิด มีทั้งหลักฐานแห่งความเป็นจริงอยู่ ผู้ใดที่ทำตนให้ออกนอกธรรมวนัยของพระพุทธเจ้าท่านไป ตั้งแต่ทำความเข้าใจให้เป็นมิจฉาทิฏฐิออกไป ไม่เป็นไปตามสภาวะสัจธรรม ไม่เป็นไปตามสุปฏิปันโน กลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป กลายเป็นธรรมะนอกรีตนอกทาง ผู้นั้นแหละสังฆเภทออกจากศาสนาของพระพุทธเจ้า ออกจากพุทธธรรมออกจากศาสนาพุทธไปโดยธรรม... อาตมาจะรวมทั้งเถรวาทและมหายาน รวมทั้งธรรมยุตและมหานิกาย จุดไหนดีจุดไหนถูกต้องก็เอา เอาส่วนที่ถูกต้องของทุกฝ่าย อาตมาถือว่าเป็นลูกพุทธก็ต้องดูแลกันทั้งนั้นแหละ อันไหนไม่ดีไม่งาม ไม่เข้าท่าก็ว่ากันไป อย่างอาตมาไม่กินเนื้อสัตว์นี่ก็ของมหายานนะ แต่อาตมาก็ไม่ได้หลงยึดตนว่าเป็นมหายาน เพราะฉะนั้น ในชีวิตของอาตมา อาตมาจะทำมหายานกับเถรวาทให้คืนเป็นหนึ่งเดียวกันให้ไม่เป็นสังฆเภท แต่ไม่ได้หมายความว่า อาตมาจะไปนำคนที่นับถือศาสนาพุทธต่างนิกายที่มีอยู่ทั่วโลก บ้างเป็นมหายาน บ้างเป็นเถรวาท มาเลิกล้มความเป็นมหายาน เลิกล้มความเป็นเถรวาทลงให้หมดนะ อาตมาจะประกาศสัจธรรมความไม่ใช่นิกาย ความต้องไม่แตกสัมมาทิฐิกันให้ชัดแจ้ง ให้ได้ อาตมาจะแก้กลับ แค่ธรรมยุต กับมหานิกายยังเรื่องเล็กไป  อาตมาจะทำให้เห็นแจ้งถึงเถรวาทและมหายานมาโน่นทีเดียว ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวเท่านั้น แล้วผนึกกันให้ถูกต้อง ทำให้ถูกธรรม ถ้าธรรมยังสังฆเภทอยู่อย่างนี้ ศาสนาพุทธไม่งอกเงย ไม่ฟื้นเด็ดขาด  เพราะฉะนั้น เราต้องเข้าใจให้ถูกเหลี่ยม

... ศาสนาพุทธเดี๋ยวนี้ยังใช้ชื่อว่า"พุทธ"  แต่เนื้อหาสาระที่เขาสาธยายทุกวันนี้หาใช่เนื้อหาของพุทธที่ถูกต้องไม่  นี่เรียกว่าสัทธรรมได้ถูกปฏิรูปไปแล้ว  แต่เขาเองกล่าวตู่อาตมาหาว่า อาตมานั่นแหละทำสัทธรรมปฏิรูป(๓๐)


ข้อกล่าวหาว่า ชาวอโศกเป็นฝ่ายทำสัทธรรมปฏิรูปนี้ เป็นเรื่องที่ชวนให้เห็นคล้อยตามได้ง่ายดาย  ซึ่งในเรื่องนี้ชาวอโศกอธบายว่า พุทธศาสนาเป็นสังขารที่ต้องอนิจจัง มีเหตุให้เสื่อมพังเพี้ยนผิดจากเดิมเป็นธรรมดา  คนเกิดทีหลังไม่รู้ทันตามจริง เลยสำคัญเอา ของกลาย และ ของงอกใหม่ ว่า ขนานแท้เจ้าเก่า  "ข้อวัตรต่าง ๆ ที่ชาวอโศกถือเคร่ง มองผิวเผินดูเหมือนใหม่ แท้จริงแล้วเป็นการกลับคืนไปสู่ของเก่าดั้งเดิม เชิงที่พระศาสนามุ่งหมาย  ... ล้วนเป็นของเก่าที่ยังเอี่ยม เพียงแต่ถูกลืมเลือนกลบเกลื่อนไปบ้างเท่านั้นเอง"(๓๑)  ดังมีอุปมาเรื่อง กลองอานกะ ที่ชาวอโศกมักจะยกมาเป็นตัวอย่างสนับสนุน ซึ่งเรื่องราวมีเนื้อความว่า


ภิกษุทั้งหลาย เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว กลองศึกของกษัตริย์พวกสารหะเรียกว่า อานกะ มีอยู่  เมื่อกลองอานกะนี้มีแผลแตกหรือลิ พวกกษัตริย์สารหะได้หาเนื้อไม้อื่น ทำเป็นลิ่มเสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น(ทุกคราวไป)  ภิกษุทั้งหลาย เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้งหลายคราวเช่นนี้ นานเข้าก็ถึงสมัยหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป เหลืออยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริมเข้าใหม่เท่านั้น  ภิกษุทั้งหลายพระสูตรเหล่าใดที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ่งเป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา เมื่อมีผู้นำพระสูตรเหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน ส่วนสูตรเหล่าใดมีนักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก  เมื่อมีผู้นำพระสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่ เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียนไป ภิกษุทั้งหลาย  ความอันตรธานของพระสูตรเหล่านั้นที่เป็นคำของตถาคต  ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตาจักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้แล(๓๒)


สำหรับข้อกล่าวหาว่า เป็นศิษย์พระเทวทัต เพราะฉันแต่อาหารมังสวิรัตินั้น ก็เป็นอีกข้อหนึ่งที่ชวนให้คล้อยเข้าใจตามได้ง่าย เพราะข้ออาหารมังสวิรัตินั้น เป็นเพียงข้อเดียว และข้อสุดท้ายในวัตรปฏิบัติทั้งหมด ที่พระเทวทัตยกขึ้นมาเพื่อจะให้เข้มงดกวดขันกับภิกษุสงฆ์ทุกองค์ อันได้แก่  1. อยู่ป่าเป็นวัตร  2. อยู่โคนไม้เป็นวัตร  3. บิณฑบาตเป็นวัตร  4. ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร และข้อสุดท้าย  5. ไม่ฉันเนื้อสัตว์เป็นวัตร  ซึ่งในเรื่องนี้ชาวอโศกมีความเห็นว่า

ทำไมพระภิกษุบิณฑบาตเป็นวัตร ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร อันพระภิกษุเดี๋ยวนี้ก็ยังยึดถือประพฤติปฏิบัติอยู่ และถ้าผู้ใดประพฤติเคร่ง ๆ จริง ๆ ในวัตรข้อดังกล่าวนี้ ก็ดูยิ่งกลับยอมรับนับถือนิยมบูชาเอาเสียด้วยนะ หรือผู้ที่ยังประพฤติอีกทั้ง 4 ข้อต้นนนั้นอยู่ก็ดี ทำไมไม่ไปโมเมเรียกพระเหล่านั้นเป็นศิษย์ของพระเทวทัตบ้างล่ะ ?  ทำไมจึงเพ่งเล็งมาเจียดจัดเหมา ให้เป็นศิษย์พระเทวทัตอยู่แต่เฉพาะในข้อที่ 5 ข้อเดียวเท่านั้น  ก็ขอให้คิดดูความช่างยัดเยียดเจียดหาเรื่อง เพ่งโทสของนักหาเรื่องให้ดี ๆ เถิด (๓๓)
และข้อกล่าวหาที่หนักยิ่งกว่า ก็คือข้อกล่าวหาว่า เป็นภัยต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นกบฎต่อแผ่นดิน ดังปรากฏในความตอนหนึ่งของหนังสือ "โพธิรักษ์ ศาสดามหาภัย" ที่ว่า
พุทธศาสนาในประเทศไทยนั้น ดำรงอยู่ได้ด้วยอาศัยอำนาจอาณาจักรสนับสนุนค้ำจุนมาตลอดเวลา...  ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้นเอง  คณะสงฆ์ไทยจึงได้รับการสนับสนุนและปกป้องโดยคณะรัฐบาล ซึ่งได้ตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ขึ้นใช้ในปี พ.ศ.2505 โดยพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามมาตรา 7  และสมเด็จพระสังฆราชทรงบัญชาการคณะสงฆ์ โดยไม่ขัดแย้งกับกฏหมาย พระธรรมวินัย และกฏมหาเถรสมาคม... การประกาศตนของพระรัก โพธิรักขิโต ในครั้งนั้น ได้แสดงให้เห็นเด่นชัดว่า ตนเองนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีหน้าที่ในการปกครองบริหารดูแลคณะสงฆ์ไทยทั่วราชอาณาจักร ถ้าจะพิจารณากันในทัศนะของการเมืองหรือตามนัยแห่งตรรกแล้ว พฤติกรรมของพระรัก โพธิรักขิโตในครั้งนั้น ก็เท่ากับเป็นการกบฏต่อแผ่นดินนั่นเอง ทั้งนี้เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน เป็นผู้พระราชทานพระสมณศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่ให้กับสมเด็จพระสังฆราช ผู้ทรงเป็นประธานคณะกรรมการของมหาเถรสมาคม ตามความเห็นชอบของคณะรัฐบาล ฉะนั้นจึงขอย้ำให้เห็นในที่นี้ว่า การที่พระรัก โพธิรักขิโต ประกาศตนเองด้วยมานะทิฐิ ด้วยความอวดดี หยิ่งยโส สำคัญตนเองผิดไปจากความจริง ไม่ยอมขึ้นต่อมหาเถรสมาคมนั้น ความจริงก็คือการประกาศตนเป็นกบฏต่อรัฐบาลไทย เป็นกบฏต่อพระมหากษัตริย์ราชสมภารเจ้า ซึ่งเป็นองค์เอกศาสนูปถัมภกอย่างชัดเจนนั่นเอง(๓๔)


ในเรื่องข้อกล่าวหาต่าง ๆ นี้ ทางฝ่ายชาวอโศก มิได้แสดงงออกถึงการตอบโต้อย่างไร มากไปกว่าการให้สัมภาษณ์เป็นบางครั้งบางคราว เมื่อมีสื่อมวลชนไปขอพบ โดยได้แสดงความบริสุทธิ์ใจ และความแน่วแน่ไม่หวั่นไหว ต่อการที่จะเกิดมีการพิจารณาความถูกผิดกันอย่างจริงจัง ไม่ว่าในรูปใด ๆ ยินดีเสมอที่จะให้ความร่วมมืออย่างดีทุกเมื่อ หากจะได้มีการพิจารณากันดังกล่าว และยังยืนยันท่าทีนี้แม้จนตราบเท่าทุกวันนี้  โดยชาวอโศกถือว่าข้อกล่าวหาทั้งหลายนั้น เป็น "ความไม่จริง" เป็น "การใส่ความ" เป็น "การกล่าวตู่" เช่น ในโอกาสที่ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ต่อ "ปัญญาชน" ในงานฝึกอบรมปฏิบัติธรรมแด่คณะครู จากจันทบุรี-ตราด-ระยอง จำนวนประมาณ 300 คน ที่วิทยาลัยครูจันทบุรี เมื่อวันที่ 10-11 มีนาคม พ.ศ.2527 พระโพธิรักษ์พระผู้นำคนสำคัญของชาวอโศก ได้กล่าวโดยสรุปไว้ว่า


แม้ในที่สุดที่ถูกใส่ความว่า เราผิดกฏหมายนั้น ก็ขอยืนยันว่า เราเป็นคนไทยที่มี "ศีลธรรม" แล้ว ที่ยิ่งกว่า "กฏหมาย" เสียอีก... ผู้พูดผู้ตู่เราว่าเราคือผู้ผิดกฏหมายนั้น ล้วนแล้วแต่คือผู้ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย เป็นผู้ผิดหลักนิติศาสตร์ก่อนเราแล้ว เป็นคนเพี้ยนกฏหมายก่อนเรา เพราะใครจะมาระบุว่าเราคือ "ผู้ผิดกฏหมาย" ยังไม่ได้ ในเมื่อเรายังไม่ได้ถูกศาลพิพากษาความแล้วว่าเป็นผู้ผิดกฏหมาย ซึ่งแม้แต่ผู้ที่ได้รับประทับฟ้องแล้วเป็น "จำเลย"ด้วยซ้ำ เมื่อเขายังไม่ได้รับการตัดสินว่าเป็นผู้ผิดแท้ตามกฏหมาย ตามหลักนิติศาสตร์จริง ๆ จะไปเรียกหรือไประบุเขาว่าเป็นผู้ผิดกฏหมายยังไม่ได้เลย แต่... พวกเรานี้มีผู้เขาพยายามหาโจทก์ จะให้มาฟ้องพวกเรากัน เขาก็หาแทบตาย ยังหากันไม่ได้ และเราก็ไม่เคยถูกฟ้อง อย่าว่าแต่แค่เป็น"จำเลย" เลย ยิ่ง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น